Jun 22, 20201 min

ประกันชีวิต 4 เดือน...เบี้ยใหม่โตสวนโควิด

สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป สร้างผลกระทบน้อยใหญ่ให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ มากน้อยกันไป ประกันชีวิตก็เช่นเดียวกันที่ได้รับผลกระทบด้านกำลังซื้อที่หดตัวลง แม้ว่าในอีกมุมหนึ่งจะได้อานิสงส์จากกระแสการซื้อประกันสุขภาพคุ้มครอง จากกระแสการตระหนักรักษาดูแลร่างกายอนามัยของประชาชน

สมาคมประกันชีวิตไทย รายงานสถิติเบี้ยประกันชีวิตของภาคธุรกิจทั้ง 22 บริษัทในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.เม.ย. 2563) พบว่ามีเบี้ยประกันภัยรับรวม 1.89 แสนล้านบาท ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 3.32 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เบี้ยประกันแบบจ่ายครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมียม) 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 7% เบี้ยประกันรับปีต่อไป 1.38 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์เฉลี่ย 80%

เฉพาะเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งระบบมีเบี้ยประกันรับรวม 3.94 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเบี้ยรับปีแรก 5,616 ล้านบาท เบี้ยประกันปีต่ออายุ 2.97 หมื่นล้านบาท และเบี้ยประกันแบบจ่ายครั้งเดียว 4,038 ล้านบาท

ส่วนเบี้ยรับปีแรกของทั้งธุรกิจช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ พบว่า 5 บริษัทอันดับแรกที่มีเบี้ยประกันสูงสุด ได้แก่ 1. เอไอเอ 7,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% 2. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต 5,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 145% 3. ไทยประกันชีวิต 5,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% 4. กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต 2,968 ล้านบาท ลดลง 20% และ 5. เมืองไทยประกันชีวิต 2,312 ล้านบาท ลดลง 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน

แหล่งข่าวจากฝ่ายการตลาดในบริษัทประกันชีวิตระดับท็อป 5 รายหนึ่ง ระบุว่าแม้ตัวเลขเบี้ยประกันรับช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา ยังค่อนข้างทรงตัว เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ เพิ่งขยายวงกว้างตั้งแต่รัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 26 มี.ค. จึงยังไม่สะท้อนผลกระทบต่อยอดขายช่วงเดือน เม.ย. ตามที่ภาคธุรกิจวิตกกังวลต่อกำลังซื้อมากนัก

ทว่าเป็นที่คาดการณ์กันว่าหลังเดือน เม.ย. ยอดขายของธุรกิจประกันชีวิตน่าจะเริ่มกระทบอย่างจริงจัง จากหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คนระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างมาก แม้ว่าภาครัฐจะทยอยผ่อนคลายมาตรการปลดล็อกต่างๆ เพราะสภาพวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนจะเปลี่ยนไป ไม่ค่อยเหมือนเดิมที่ก่อนจะเกิดภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งบริษัทประกันชีวิตหลายแห่งต้องปรับแผนงานกลยุทธ์การตลาดในช่วงตั้งแต่กลางปี เพื่อให้สอดคล้องกับกับช่วงผลกระทบจากครึ่งปีแรก

อีกมุมหนึ่งที่หลายบริษัทเป็นห่วง นอกเหนือจากจำนวนลูกค้าใหม่ที่เข้ามาไม่มาก ปัญหาการขาดต่อเบี้ยประกัน การเวนคืนกรมธรรม์และการกู้ยืมตามกรมธรรม์ตามภาวะความจำเป็นของลูกค้า เป็นสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นความสมัครใจของลูกค้าทั้งหมด จึงเป็นประเด็นที่บั่นทอนการบริหารจัดการ แม้จะไม่ถึงขั้นกระทบผลประกอบการโดยรวมก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สิ่งดีๆ ที่ภาคธุรกิจประเมินเบื้องต้นว่าหลังผ่านพ้นโควิด-19 ไปแล้ว ธุรกิจประกันชีวิตโดยรวมน่าจะได้อานิสงส์จากกระแสการตระหนักรับรู้และระมัดระวังการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่จะหันมาใส่ใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตมีโอกาสเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่ต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในแต่ละช่วงด้วย

นายพิชา สิริโยธิน ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่าหลังจากสมาคมตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ออกมาตรการให้เว้นระยะห่างทางสังคม โดยหยุดทุกกิจกรรมที่เป็นการนำคนหมู่มากมารวมตัวกัน ทำให้ไม่สามารถเปิดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตได้ แต่ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับมาตรการผ่อนคลายของภาครัฐที่ออกมา

สมาคมซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก กทม.ที่เข้ามาตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ จึงได้เริ่มเปิดสอบใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต โดยผู้ที่ประสงค์จะสอบใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิตต้องทำการลงทะเบียนจองคิวสมัครสอบล่วงหน้าผ่าน www.tlaa.org ซึ่งเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจำกัดจำนวนผู้สมัครสอบและขอสงวนสิทธิ์ในการเข้าสอบให้กับผู้ที่ลงทะเบียนล่วงหน้าเท่านั้น โดยสมาคมจะไม่รับสมัครสอบแบบ Walk in ในทุกกรณี เพื่อเป็นการปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ

นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต กล่าวว่าจากที่บริษัทได้เสนอขายประกัน “Digital Face to Face” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มีความสนใจในการทำประกันภัย ผ่านช่องทางการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย แบบ Face to Face ด้วยการใช้เครื่องมือสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยข้อความ เสียง และ/หรือภาพ ระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีผู้ทำประกันภัยผ่านช่องทางนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้เพื่อสะท้อนความสำเร็จ บริษัทได้มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้เอาประกันที่ทำประกันภัยผ่านช่องทาง “Digital Face to Face” รายแรก คือ คุณธนาธินาถ นุตสาระ และรายที่ 100 คุณทองใบ ยินดี เพื่อเป็นการขอบคุณที่มอบความไว้วางใจให้บริษัทได้ดูแลและมอบความคุ้มครองประกันชีวิตและสุขภาพแก่ลูกค้า

“การขายประกัน Digital Face to Face ถือเป็นสิ่งที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างตรงจุดเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งพิสูจน์แล้วจากการตอบรับที่ดีของลูกค้าและด้วยขั้นตอนของการซื้อประกัน สามารถทำได้สะดวกปลอดภัย ไม่ยุ่งยาก โดยทำผ่านทาง Phone Call, Video Call, Line Call, Line หรือทาง E-mail โดยจะมีเจ้าหน้าที่บริษัท โทร.หาลูกค้าเพื่อยืนยันการซื้ออีกครั้ง ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอน การนำเสนอความคุ้มครอง การยืนยันทำประกันภัย การส่งเอกสารเพื่อทำประกันภัย การชำระเบี้ยประกันภัยและรับความคุ้มครองผ่านทาง SMS และ e-mail ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 ด้วย ทำให้เชื่อว่าการขายประกันแบบนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน”

นอกจากการพัฒนาช่องทางขายแล้ว บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพตัวแทนประกันชีวิตที่มุ่งสู่การเป็นผู้ออกแบบการเงิน ที่สามารถออกแบบให้คำปรึกษาและวางแผนการสร้างความมั่งคั่งทางการเงินที่เหมาะสมแก่ลูกค้าแต่ละราย รวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือสมัยใหม่และบริการที่สามารถเข้าถึงและตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้อย่างครอบคลุมเหมาะสมกับคนทุกยุคทุกสมัยอีกด้วย

74