Sep 18, 20201 min

ประกันชีวิตอาจมีสะดุด...เหตุขอขายสุขภาพเดี่ยว

ธุรกิจประกันชีวิต นำโดยสมาคมประกันชีวิตไทย ตบเท้าเข้าหารือหน่วยงานกำกับดูแลและภาครัฐ เพื่อดันเรื่องลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ แยกวงเงินออกจากรายการลดหย่อนประกันชีวิต อาศัยกระแสความนิยมและการตระหนักด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลของประชาชนในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 เพื่อจูงใจประชาชนซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ทำให้ตลาดโดยรวมขยายตัวมากขึ้น อีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระพึ่งพิงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐบาลที่แออัดและลดงบประมาณด้านสุขภาพการเยียวยาประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจประกันภัยในภาพรวม

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอข้อมูลแนวทางการศึกษาวิจัยและแผนดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษากฎหมาย รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ จากผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อนำไปสู่การยกร่างกฎหมายเฉพาะประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ)

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าระบบประกันภัยสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนและการบริหารจัดการด้านสุขภาพในระดับมหภาคของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา คปภ. ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกันภัยที่สนับสนุนการรักษาสุขภาพ การประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ Long-Term Care Product และ Remote Treatment

รวมทั้งผลักดันการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกัน การร่วมมือกับบริษัทเอกชนในกลุ่มธุรกิจ Value Chain ของสังคมผู้สูงอายุ การมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ การนำระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนเสริมเติมสิทธิค่ารักษาพยาบาลให้กับระบบหลักประกันภัยสุขภาพ 3 ระบบหลัก คือระบบหลักประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคมและระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

ทั้งนี้ จากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพในทุกมิติ ส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพในระบบมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเบี้ยประกันสุขภาพ ทั้งฝั่งของธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2561 มีเบี้ยประกันรับรวมกันทั้งสิ้น 8.27 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยสุขภาพ (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) ในปี 2562 มีเบี้ยประกันรวม 9.14 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.54% และเมื่อเทียบในไตรมาสแรกของปี 2562 มีเบี้ยรวมทั้งสิ้น 2.38 หมื่นล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 23.4%

อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) หรือ พ.ร.บ.ประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เพราะในปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535

ที่ผ่านมา ประชาชนหรือผู้เอาประกันจึงสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพเดี่ยว (stand alone) ได้จากบริษัทประกันวินาศภัย แต่ที่ผ่านมา หากซื้อจากกับบริษัทประกันชีวิต จะต้องซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น ทำให้เกิดความลักลั่นของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและเป็นข้อพิพาทร้องเรียนมายัง คปภ. อยู่เนืองๆ

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน คปภ. จึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ เช่น ไทย เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน เพื่อให้เห็นภาพรวมข้อดีข้อเสียของระบบประกันภัยสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อกฎหมายในมิติต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือเข้าไปเสริมระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่เป็นกลไกของรัฐ โดยกฎหมายเฉพาะฉบับนี้จะมีบทบาทหลัก 2 ประการ คือ ช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) อย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และช่วยส่งเสริมพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพอย่างเข้มแข็ง

เฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้สูงอายุ เพราะโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายนี้ มีผลกระทบทั้งในส่วนของประชาชนและรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ผู้เอาประกันรวมถึงผู้สูงอายุ อาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันสุขภาพอย่างครอบคลุมและเพียงพอ กฎหมายประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) จึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประชาชนและภาครัฐ

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่าสมาคม อยู่ระหว่างหารือกับ คปภ. เรื่องการขายประกันสุขภาพรายเดี่ยวโดยไม่ต้องพ่วงกับประกันชีวิตที่เป็นกรมธรรม์หลักเหมือนกับของบริษัทประกันวินาศภัย รวมถึงการปรับขนาดของกรมธรรม์ประกันชีวิตหลัก หรือการกำหนดเบี้ยประกันสำหรับแต่ละช่วงอายุที่มีความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของแต่ละบุคคลมากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตและขยายฐานลูกค้าประกันชีวิตที่ลูกค้าให้ความสนใจประกันสุขภาพมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

“เบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบ ยังมีโอกาสเติบโตอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 และในอนาคต โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เบี้ยประกันสุขภาพที่ขายโดยบริษัทประกันชีวิต เติบโต 10% และคาดว่าจะเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่องและครองส่วนแบ่งหลักในตลาดในสัดส่วน 80% ที่เหลือ 20% เป็นสัดส่วนของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งในแต่ละปีเบี้ยประกันสุขภาพในระบบมีรวมกันเกือบ 1 แสนล้านบาท”

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าในหลักการ ต้องดูข้อกฎหมายร่วมกันระหว่างทั้ง 2 สมาคม ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาได้ผ่อนปรนกันพอสมควร ระบบภาษีที่ใช้ในแต่ฝั่งก็แตกต่างกัน โดยประกันชีวิตใช้ภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ประกันวินาศภัยใช้ VAT ซึ่งปัจจุบันยังเป็นการพูดคุยร่วมกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ

“มองว่าตลาดประกันสุขภาพในระบบ ยังมีความต้องการอยู่อีกมาก เพราะประชาชนเริ่มตระหนักและใส่ใจเรื่องสุขภาพอนามัยกันมากขึ้น ยิ่งสถานการณ์โรคระบาด ยิ่งเป็นตัวเร่ง อย่างน้อยที่ผ่านมา คนซื้อประกันภัยโควิดจำนวนมาก ที่สำคัญ เบี้ยไม่แพงมาก” นายอานนท์ กล่าว

แหล่งข่าวในวงการประกันภัยรายหนึ่ง ระบุว่าเหตุที่ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยขายประกันสุขภาพได้เฉพาะแบบรายเดี่ยว ซึ่งต่างกับบริษัทประกันชีวิตที่สามารถขายพ่วงไปกับกรมธรรม์หลัก หรืออนุสัญญานั้น เพราะผลิตภัณฑ์หลักๆ ของประกันชีวิตมีความหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือก ที่สำคัญ กฎหมายของประกันชีวิตไม่ได้กำหนดให้เบี้ยประกันสุขภาพต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

ขณะที่เบี้ยประกันสุขภาพที่บริษัทประกันวินาศภัยขายรายเดี่ยวนั้น ต้องเข้า VAT โดยรวมอยู่ในเบี้ยประกัน ซึ่งลูกค้าเป็นผู้จ่าย เหตุที่ขายได้ เพราะธุรกิจประกันวินาศภัยใส่คำว่า “ค่าปลงศพ” เข้าไปในกรมธรรม์ เพื่อเลี่ยงคำว่าเสียชีวิต ซึ่งใช้สำหรับการประกันชีวิต จึงเป็นความลักลั่นกันมานาน

อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจประกันชีวิตจะขอขายประกันสุขภาพเดี่ยวและยังมีการขายพ่วงเหมือนเดิมด้วยนั้น ซึ่งเป็นทางเลือก ทางฝั่งประกันวินาศภัยน่าจะมีข้อโต้แย้งและจะขอออกจากระบบ VAT เพื่อความเท่าเทียมกันในผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกัน มิฉะนั้นจะยิ่งเป็นการเสียเปรียบทางธุรกิจมากขึ้น.

46