Apr 29, 20201 min

ยิ่งขึ้นต่อยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นอยู่ได้ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมายงบประมาณเยียวยาเศรษฐกิจจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 มูลค่า 4.84 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับที่ 4 ที่ผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรสเพื่อตอบสนองและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ทั้งนี้มาตรการเยียวยาดังกล่าวครอบคลุมถึงการเพิ่มวงเงินให้กับโครงการ "Paycheck Protection Program" อีกกว่า 3.10 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์ให้ธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถจ้างงานต่อไปได้ แม้ว่าในระยะสั้นจะถูกกดดันจากการทรุดตัวของราคาน้ำมันดิบโลก หลังจากที่การใช้น้ำมันทั่วโลกก็ยังไม่มีที่ไหนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาได้อย่างที่คาดไว้ มีเพียงการใช้ที่จีนนั้นปรับตัวขึ้นมาแต่ในประเทศใหญ่ๆอื่นๆอย่าง สหรัฐ ยุโรป และอินเดีย ยังไม่มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาเลยจากการปิดเมือง

ขณะที่ใน Momentum ในระยะต่อไปของตลาดหุ้นโลก จะได้รับการขับเคลื่อนจากการที่ธนาคารกลางของโลกเดินหน้าซื้อทรัพย์สินสุทธิเข้าคลังเกือบ 5 เท่า ของวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2541 แค่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดรายเดียวมีมูลค่าสูงถึง 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อวัน โดยที่งบดุลของธนาคารกลางหลายประเทศ กำลังทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การซื้อสินทรัพย์จำนวนมหาศาลเหล่านั้นมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และยังไม่รู้ว่าจะหยุดเมื่อไร อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการปรับตัวขึ้นต่อของตลาดหุ้นโลก และไทยเริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น บนความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มที่จะเข้ามาเป็นปัจจัยลบอย่างมากในระยะต่อไป หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดการประเมินเศรษฐกิจในเดือน เม.ย. 2563 ลงสู่ระดับ "ย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว" หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยนับเป็นครั้งแรกหลังจากเดือน พ.ค. 2552 หรือช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ที่รัฐบาลญี่ปุ่นใช้คำว่า "ย่ำแย่" หรือ "ย่ำแย่ลง" ในรายงานการประเมินเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับเกาหลีใต้ ที่ล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า GDP ของเกาหลีใต้ ปรับตัวลดลง 1.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส โดยเป็นสถิติที่ปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2551 ซึ่ง GDP ขณะนั้นหดตัวลง 3.3% สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 24.86% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 7.25% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 50%

หุ้นแบงก์ และพลังงานจะเป็นตัวฉุด ! แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทย จะได้รับปัจจัยบวกจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อีกทั้งภาคเอกชนเสนอผ่านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และกระทรวงสาธารณสุข เสนอให้ ปลดมาตรการล็อคดาวน์ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป แต่ปัจจัยกดดันภายในประเทศยังคงมีอยู่มากในระยะต่อไป โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับภาคธนาคารของไทย หลังตัวเลขหนี้เสีย หรือ NPL ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในไตรมาสแรกปี 2563 พบว่าตัวเลข NPL ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 9% มาอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตัวเลข NPL ทั้งระบบอยู่เพียง 4.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรา NPL Ratio อยู่ที่ 3.5 % ซึ่งเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปีก่อน ที่มีอัตรา NPL Ratio อยู่เพียง 2.98% เท่านั้น ในภาพรวมจึงถือว่าตัวเลข NPL ปรับตัวขึ้นเร็ว หากเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ ที่เติบโตได้เพียง 2% เท่านั้นในไตรมาสนี้ นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันที่มี Market Cap ราว 54% ของตลาดหุ้นไทยในภาพรวม ยังคงถูกกดดันจากทิศทางของราคาน้ำมันที่เป็นขาลงชัดเจน จากความกังวลว่าจะเจอภาระในการหาที่เก็บน้ำมัน ทำให้คลังน้ำมันกลางของ WTI Futures ซึ่งอยู่ในเมือง Cushing รัฐ Oklahoma เริ่มถูกคาดการณ์กันว่าจะมี Capacity ไม่พอเก็บ ขณะที่ในด้านของอุปสงค์ พบว่าการใช้น้ำมันทั่วโลกก็ยังไม่มีที่ไหนปรับตัวเพิ่มขึ้นมาได้อย่างที่คาดไว้ มีเพียงการใช้ที่จีนนั้นปรับตัวขึ้นมาแต่ในประเทศใหญ่ๆอื่นๆอย่าง สหรัฐ ยุโรป และอินเดีย นั้นก็ยังไม่มีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นมาเลยจากการปิดเมือง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

16