May 27, 20202 min

ยังมองเห็นความเปราะบางมากๆ...ปัญหาของทั้งสหรัฐ และจีนกดดันการดีดต่อ

ยังไม่ลงด้วยข่าวระยะสั้น!

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงพยุงตัวอยู่ในแนวโน้มของการขยับขึ้นต่อได้อยู่นะครับ หลังจากที่มีข่าวออกมาว่าวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ของ Moderna ให้ผลการทดลองที่ดีในการทดลองระยะที่ 1 ถึงแม้จำนวนข้อมูลทดลองจะยังมีน้อย (Samples) แต่ก็บ่งบอกถึงแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการใช้วัคซีน แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวเป็นผลการวิจัยในเบื้องต้นที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาในเชิงวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ใดๆ

อย่างไรก็ดีประธานาธิบดี Xi Jinping ของจีนออกมาแถลงว่าหากมีการผลิตวัคซีนต้านไวรัสได้สำเร็จทางจีนจะปล่อยให้วัคซีนเป็นของสาธารณะแน่ๆ นอกจากนี้จีนจะบริจาคเงิน 2 พันล้านเหรียญให้ WHO ต่อสู้กับไวรัส สร้างความมั่นใจและลดความกังวลเรื่องความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน นอกจากนี้ยังคงมีปัจจัยหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของราคาน้ำมันดิบโลก บนความคาดหวังว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวได้ดีจากการทยอยเปิดเมือง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นได้ค่อนข้างดี หลังจากความต้องการใช้น้ำมันของจีนใกล้กลับมาอยู่จุดเดิมแล้ว

ทั้งนี้มีรายงานจาก Bloomberg ว่าการใช้น้ำมันของจีนเดือน พ.ค. 2563 อยู่ที่ 13.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่หากเทียบกับการใช้น้ำมันของจีนเดือน พ.ค. 2562 การใช้น้ำมันของจีนจะอยู่ที่ 13.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ที่ 13.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ ฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการที่ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “60 Minutes” ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งหลังของปีนี้ และจะกลับมาโตได้ดีเมื่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 หายไปในช่วงปลายปี 2564 โดยวัคซีนจะเป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้า และไม่สามารถคาดการณ์ได้ ทำให้เฟดยังมีโอกาสเร่งเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดต่อไป แต่ในมุมมองของ “นายหมูบิน” นั้นยังคงมองว่าการที่ตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทยยังคงฝืนปรับตัวขึ้นต่อ จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นโลก และไทยจะกลับมาพักฐานอีกครั้งเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนที่แท้จริงคือความเชื่อมั่นเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยเองยังคงไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงอีก 1.8% ลงมาอยู่ที่ -21.4% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงมาแล้วถึง 33.4%

เทียบกับที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ตั้งแต่ต้นปี 2563 ลง 29.9%, 30.2%, 21.3% และ 18.3% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -21.4% ยังถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ -11.2%, -10.5%, -14.9% และ -3.6% ตามลำดับ

ปัญหาของทั้งสหรัฐ และจีนกดดันการดีดต่อ ! ชัดเจนว่าปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามากดดันการขยับตัวขึ้นต่อของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไปคือความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐที่ทวีความรุนแรงขึ้นกว่าเดิม หลังสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมาย "Holding Foreign Companies Accountable Act" เพื่อเพิกถอนบริษัทของจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งรวมถึง Alibaba และ Baidu อีกด้วย โดยกำหนดให้บริษัทจีนทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับดูแลการบัญชีแห่งสหรัฐ (PCAOB) ไม่สามารถอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐได้อีกต่อไป ตีความได้ง่ายๆ ว่าหากสหรัฐไม่สามารถตรวจสอบบัญชีบริษัทใดของจีนได้ บริษัทนั้นก็ไม่มีสิทธิ์จะอยู่ในตลาดหุ้นของสหรัฐอีกต่อไป ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้มีบริษัทจีนถึงประมาณ 95% ที่สหรัฐไม่สามารถตรวจสอบบัญชีได้

โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามี 224 บริษัทที่เข้าข่าย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐยังขู่จะเลิกให้เงินสนับสนุน WHO อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ชั่วคราวแต่เป็นการถาวร หาก WHO ยังไม่สามารถปรับปรุงองค์กรให้ดีขึ้นได้ภายใน 30 วัน และจะทบทวนบทบาทของสหรัฐใน WHO ด้วยอีก โดยบอกเป็นนัยได้ว่าประธานาธิบดี Donald Trump เชื่อว่าทางจีนอยู่เบื้องหลังการระบาดของไวรัส COVID-19 และ WHO อาจตั้งใจช่วยจีนปิดความลับนี้ ขณะที่ในฝั่งของจีนเอง ล่าสุดจีนได้ออกกฎหมายใหม่ในด้านความมั่นคงของฮ่องกง โดยอาจทำให้ฮ่องกงสิ้นสุดสถานะ "เขตปกครองพิเศษ" อย่างถาวร ขณะที่สหรัฐระบุว่าพวกเขาจะใช้มาตรการตอบโต้ หากจีนคิดจะเข้าควบคุมประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ

นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังได้ออกมาประกาศระงับการกำหนดเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ประจำปีนี้ ได้ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มากขึ้น ทั้งนี้ความไม่เชื่อมั่นเต็มที่กับทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไป สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่แม้จะเพิ่มขึ้น 5.69% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 29.00% แต่ยังคงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 45.02% แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงมาแล้วราว 5.59% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.0 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club


 

15