Nov 19, 20191 min

ผลตอบแทนและความเสี่ยง ในการลงทุนแบบ Passive Income

หลายท่านอาจมีความคิดหรือความคาดหวังว่าอยากจะได้รับ Passive Income จากการลงทุนอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิต และคงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยที่เราจะสามารถสร้าง Passive Income ได้สูงกว่ารายจ่าย ซึ่งจะทำให้เราสามารถเกษียณจากการทำงานได้อย่างสบายใจ แต่คำถามที่สำคัญคือ “ถ้าเราต้องการมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือนหรือ 100,000 บาทต่อเดือน เราจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ไหนและต้องมีเงินลงทุนเท่าใด?”

โดยคุณศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Chief Investment Office) กล่าวว่า เราต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อนว่า “Passive Income” ในที่นี้หมายถึงกระแสเงินสดที่เราได้รับจากการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งไม่รวมถึงกำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของสินทรัพย์ (Capital gain) ตัวอย่างเช่น รายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากธนาคาร รายได้เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น หรือรายได้ค่าเช่าจากคอนโดมิเนียม เป็นต้น ซึ่งกระแสเงินสดที่ได้รับจากสินทรัพย์แต่ละประเภทนั้นย่อมมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะและความเสี่ยง ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องทำการสำรวจคืออัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์แต่ละประเภทที่จะสร้างกระแสเงินสดจากการลงทุนให้เรา โดยในบทความนี้จะยกตัวอย่างสินทรัพย์ทั้งหมด 4 ประเภท ประกอบไปด้วย

(1) รายได้ดอกเบี้ยจากการฝากประจำ 3 เดือน ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยราว 1.13% ต่อปี

(2) รายได้ดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะ 10 ปี ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนราว 1.54% ต่อปี

(3) อัตราเงินปันผลจากตราสารทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนราว 2.46% ต่อปี และ

(4) รายได้จากค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยราว 4.5% ต่อปี

เมื่อเราทราบอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังแล้ว เราก็จะสามารถคำนวณเงินตั้งต้นที่ต้องใช้ในการลงทุนเพื่อให้ได้รับกระแสเงินสดตามจำนวนที่เราคาดหวังได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการมีกระแสเงินสดจากการลงทุนเดือนละ 50,000 บาท หรือปีละ 600,000 บาท เราจะต้องใช้เงินลงทุนตั้งต้นตั้งแต่ราว 13 ล้านบาทในกรณีที่เราลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อปล่อยเช่า ไปจนถึงราว 53 ล้านบาทหากเรานำเงินไปฝากประจำกับธนาคาร

ทั้งนี้ ปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงในการวางแผนการลงทุนหากเรามีเป้าหมาย Passive Income นั้นประกอบไปด้วย ประเภทสินทรัพย์ที่จะลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของสินทรัพย์ดังกล่าว และเงินตั้งต้นที่ต้องใช้ในการลงทุน อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเงินตั้งต้นที่ต้องใช้ในการลงทุนจะน้อยลงหากสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนนั้นมีอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นย่อมหมายความถึงความเสี่ยงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นด้วย โดยความเสี่ยงในที่นี้หมายถึงโอกาสที่เงินลงทุนตั้งต้นของเราอาจสูญเสียมูลค่าไป ซึ่งรูปแบบการลงทุนนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นสามประเภทโดยไล่เรียงระดับความเสี่ยงจากน้อยไปมาก ประกอบไปด้วย (1) การลงทุนที่เน้นรักษาเงินทุน (Capital Preservation) (2) การลงทุนที่เน้นสร้างรายได้ประจำ (Current Income) และ (3) การลงทุนที่เน้นเพิ่มค่าเงินทุน (Capital Appreciation)

ถึงแม้ว่าทุกสินทรัพย์ที่เรานำมาคำนวณในข้างต้นนั้นจะสามารถสร้างรายได้ประจำให้แก่นักลงทุนได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงระดับความเสี่ยง จะเห็นว่าการลงทุนในเงินฝากประจำนั้นเป็นการลงทุนประเภทเดียวที่มีรูปแบบรักษาเงินทุน ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวนั้นถึงแม้จะดูเหมือนกับว่าเป็นรูปแบบรักษาเงินทุนเช่นกัน แต่หากอัตราดอกเบี้ยมีการเปลี่ยนแปลง การขายพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวในตลาดรองนั้นอาจทำให้นักลงทุนได้รับเงินต้นคืนเต็มจำนวนหรือไม่ก็ได้ ในส่วนของตราสารทุน ผู้ลงทุนต้องเผชิญความเสี่ยงของราคาที่มีโอกาสเคลื่อนไหวขึ้นลงจากทั้งปัจจัยเศรษฐกิจในระดับมหภาคและปัจจัยการเติบโตของธุรกิจที่เราเลือกลงทุน และนอกจากนี้ อัตราเงินปันผลยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัท ซึ่งไม่เหมือนกับตราสารหนี้ที่เป็นภาระผูกพันของผู้กู้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ดังนั้น บริษัทที่เราเลือกลงทุนจึงมีโอกาสในการปรับนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้น้อยลงเมื่อบริษัทต้องการนำกระแสเงินสดไปลงทุน ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าเช่าจากการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ใช่กระแสเงินสดที่มีความแน่นอนเสมอไป เพราะมีโอกาสที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่สามารถหาผู้เช่าได้ตลอดเวลา และยังมีโอกาสที่อัตราค่าเช่าลดลงเนื่องจากการเปิดตัวของโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ที่เข้ามาเป็นตัวเลือกให้ผู้เช่าเพิ่มเติม นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ยังมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องสำหรับเจ้าของที่ต้องคำนึงถึง เช่น ค่าปรับปรุงซ่อมแซม และค่าส่วนกลางของโครงการ เป็นต้น

จากคำถามที่ว่า “ถ้าเราต้องการมีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน เราจะต้องลงทุนอย่างไร?” ซึ่งดูเหมือนว่าจะสามารถหาคำตอบได้ไม่ยากนัก แต่เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงของการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์เพิ่มเติม ส่งผลให้การหาคำตอบนั้นมีปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึงเพิ่มขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้นอีกหลายเท่า ดังนั้น การวางแผนการลงทุนที่ดีนั้นเราต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในการลงทุนควบคู่ไปกับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของสินทรัพย์ที่เราเลือกลงทุนด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนควรให้ความสำคัญในการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทด้วยครับ

เขียนโดย

คุณศรชัย สุเนต์ตา CFA,ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB Chief Investment Office)

8