Oct 29, 20192 min

เศรษฐกิจอ่อนแอกดดันตลาดหุ้นไทย

แบงก์ชาติทั่วโลกต้องอัดฉีด !

ตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจาก Earning Season ของตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐที่ประกาศออกมาแล้วราว 30% ในจำนวนดังกล่าว 80% ประกาศผลการดำเนินงานออกมามากกว่าที่คาดการณ์ นอกจากนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังได้รับปัจจัยบวกจากความหวังในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยล่าสุดประธานาธิบดี Donald Trump ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐและจีนจะบรรลุข้อตกลงในการยุติการทำสงครามการค้า และการเจรจาการค้ามีความคืบหน้าอย่างมาก ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีจีนระบุว่าจีนและสหรัฐจะทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาทางการค้า และยังกล่าวว่าการเจรจามีความคืบหน้าอย่างมากเช่นกัน

ด้านภาพรวมของธนาคารกลางทั่วโลกยังคงเป็นนโยบายเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% โดยเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไป หรือปรับลดลง จนกว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้การปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ECB ย้ำว่าจะรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือน พ.ย. โดย ECB จะซื้อพันธบัตรในวงเงิน 2 หมื่นล้านยูโร/เดือน ขณะที่ ECB จะดำเนินโครงการ QE เป็นระยะเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น และจะยุติโครงการ QE ก่อนที่ ECB จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ในส่วนของญี่ปุ่น Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีโอกาสที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มอีก แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในภาวะติดลบแล้วก็ตาม โดยการแสดงความเห็นดังกล่าวอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นออกมาชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากตัวเลข Manufacturing PMI ของญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 2562 ลดลงมาสู่ระดับ 48.5 ลดลงจากเดือน ก.ย. 2562 ที่ระดับ 48.9 ซึ่งนับเป็นการหดตัวที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 นอกจากนี้ตัวเลข Core CPI เดือน ก.ย. 2562 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.3% ห่างจากเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2% ทำให้โอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ BOJ สู่ระดับ -0.2% มีโอกาสสูงมากราว 60%

ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) ระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 0.25% สู่ระดับ 5% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ทั้งนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ลงมาแล้ว 1% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 1.75% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบสองปี ซึ่งเป็นผลกระทบกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ

ปัจจัยพื้นฐานไม่หนุนตลาดหุ้นไทย : Momentum ของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นได้ หลังจากที่ดัชนี VIX Index ของสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกงในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.58%, 12.30% และ 6.88% โดยที่ล่าสุดดัชนี VIX Index ของสหรัฐ ยุโรป และฮ่องกง ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่ากว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่ลดลง ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 2.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 35.60% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 2.78% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 28.27%

นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังคงมีโอกาสได้รับปัจจัยหนุนจากหุ้นในกลุ่มพลังงาน ที่มีปัจจัยบวกจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น +4.22% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ OPEC และพันธมิตร เตรียมลดกำลังการผลิตลงอีก ในการประชุมวันที่ 5-6 ธ.ค. 2562 นอกจากนี้รายงานสต็อกน้ำมันดิบ EIA ยังลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล และถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 สัปดาห์

อย่างไรก็ดีจากความเสี่ยงเฉพาะตัวของตลาดหุ้นไทย “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันคำเดิมตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับขึ้นไปยืนเหนือ 1,700 จุดได้ การดีดตัวขึ้นของ SET เป็นโอกาสในการขายลดความเสี่ยงออกมาก่อน สะท้อนออกมาจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวต่อเนื่อง หลังจากที่ IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP เหลือ 2.9% จากเดิมคาด 3.5% ในปี 2562 หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางที่อ่อนแอมากๆ โดยที่ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย. 2562 หดตัวลง 1.39% สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 2.7% ขณะที่การนำเข้าหดตัว 4.24% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,275.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับในช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย. 2562) หดตัวลง 2.11% ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ก็ลดลงทั้งยอดขายต่างประเทศ และในประเทศ โดยยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ก.ย. 2562 ลดลง 6.36% จากเดือน ก.ย. 2561 โดยการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด จากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกรับผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ และจีน ยกเว้นตลาดเอเชียและตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ย. 2562) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปลดลง 4.39% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 422,936.91 ล้านบาท หรือลดลง 6.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้านยอดขายรถยนต์ในประเทศ ลดลง 14.1% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลง 5.7% จากเดือนส.ค. 2562 จากความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ และจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

11