Oct 24, 20191 min

แกว่งขึ้นต่อ...เน้นขายลดพอร์ตออกไปก่อน

บทสรุปจีน-สหรัฐยังอีกไกล !

แม้ว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะยังคงปรับตัวขึ้นต่อตามที่เราประเมินไว้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวขึ้น 2.75% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแล้วว่าจะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ที่เดิมมีแผนว่าจะเก็บเพิ่มจาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่อย่างไรก็ตาม “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลกนั้น ยังคงเป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” หรือ “ขายลดพอร์ต” มากกว่าการเข้าไปซื้อเพิ่ม เพราะในภาพรวมยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐและจีนยังคงมีประเด็นที่ไม่แน่นอนอยู่มาก หลังจากที่สหรัฐยังคงไม่มีท่าทีที่จะระงับภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกชุดหนึ่งในอัตรา 15% วงเงิน 160,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2562 ตามที่เคยประกาศเอาไว้ ส่งผลให้จีนต้องการเจรจาเพิ่มเติมกับสหรัฐอีกอย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายเดือน ต.ค. 2562 เพื่อล้มเลิกแผนการขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ในเดือน ธ.ค. 2562 และจะสรุปรายละเอียดของข้อตกลงการค้าขั้นแรกก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะลงนามร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรในการประชุมเอเปก

นอกจากนี้การเจรจาในรอบต่อไปยังมีความท้าทายอยู่มาก ซึ่งการเจรจาจะเน้นไปที่ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งมีนัยว่าจีนต้องมีการออกกฎหมาย รวมถึงปฏิรูปเชิงโครงสร้างลดการสนับสนุน และอุดหนุนรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจขัดกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของทางการจีน

ทั้งนี้ในทางการเมืองดูเหมือนว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐ และจีนจะดูยากมากขึ้นไปอีก หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ด้วยการผ่านร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยของฮ่องกง โดยร่างกฎหมายดังกล่าวจะคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในการทำลายเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปกครองตนเองในฮ่องกง นอกจากนี้ร่างกฎหมายจะกำหนดให้มีการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับฮ่องกงภายใต้กฎหมายของสหรัฐ โดยการทบทวนดังกล่าวจะพิจารณาถึงประเด็นที่ว่า ฮ่องกงได้รับอำนาจในการปกครองตนเองอย่างเพียงพอจากจีนหรือไม่ ส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลว่าความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนในประเด็นฮ่องกงนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งมีความเปราะบางอยู่แล้วในขณะนี้

ดังนั้นในภาพรวมจะพบว่าบทสรุปที่ชัดเจนยังไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกในระยะยาว นอกเหนือจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ที่ควรจะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญก็คือปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้กำลังโคจรมาเกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

ยังมองไม่เห็นแสงสว่างเศรษฐกิจโลก : นอกจากประเด็นการค้าระหว่างจีน และสหรัฐแล้ว เศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปอีกมาก โดยประเด็นหลักๆคงหนีไม่พ้นการตั้งกำแพงภาษีใส่กันระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป (อียู) โดยสหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตราสูงขึ้น 25% วงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์ มีผลวันที่ 18 ต.ค. 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และอังกฤษ

ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องติดตามต่อจากนี้คือยุโรปจะโต้ตอบสหรัฐอย่างไร บนสถานการณ์ที่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงอย่างชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) โดยได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสู่ระดับ 3.0% ในปีนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551-52 จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือน ก.ค. 2562 ที่ระดับ 3.2%

นอกจากนี้ IMF ยังได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าสู่ระดับ 3.4% จากเดิมที่ระดับ 3.5% ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวเป็นไปได้มากที่เดียว หลังจากที่ประเด็นทางการค้าส่งผลให้ GDP ไตรมาส 3 ของจีนขยายตัวเพียง 6.0% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 6.1% ขณะที่การส่งออกจีนในเดือน ก.ย. 2562 หดตัว 3.2% YoY ขณะที่การนำเข้าหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ราว 8.5% หลังจากที่หดตัวไปแล้ว 5.6% ในเดือน ส.ค. 2562 โดยถือเป็นยอดต่ำที่สุดนับจากเดือน พ.ค. 2562 สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน

ทั้งนี้จากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดตอกย้ำให้จีนจะต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นการขยายตัวเศรษฐกิจเพื่อต้านการชะลอเศรษฐกิจ ส่งผลให้เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่มเงิน 2 แสนล้านหยวน (2.8 หมื่นล้านดอลลาร์) ผ่านสินเชื่อระยะกลาง 1 ปีในวันนี้ ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาด เนื่องจากปกติแล้ว PBOC จะอัดฉีดสภาพคล่องเมื่อถึงช่วงกำหนดชำระเงินกู้เท่านั้น ซึ่งกำหนดการครั้งต่อไปคือวันที่ 5 พ.ย. 2562

เศรษฐกิจของจีนกำลังอยู่ภายใต้ความกดดัน ทั้งจากข้อพิพาททางการค้ากับทางสหรัฐ ส่งผลให้ PBOC ได้หันมาพึ่งพาการดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations: OMO) เพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และลดต้นทุนการกู้ยืม รวมถึงลดอัตราส่วนการสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารในปีนี้

นอกจากนนี้ความเสี่ยงสุดท้ายที่เห็นเด่นชัดคือเรื่องของ Brexit ซึ่งตามกำหนดจะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ต.ค. 2562 เพราะแม้ว่ารัฐบาลอังกฤษ และอียูจะบรรลุข้อตกลงใหม่ได้แล้ว แต่ล่าสุดรัฐสภาอังกฤษ ลงมติให้เลื่อนการตัดสินใจรับรองร่างข้อตกลง Brexit ฉบับของ Boris Johnson ออกไป ซึ่งเท่ากับกดดันให้ Boris Johnson ต้องไปขอให้อียูชะลอเวลาการถอนตัวออกจากยุโรปของสหราชอาณาจักรออกไปอีก จากกำหนดเดิมต้องออกในวันที่ 31 ต.ค. 2562

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

9