Aug 21, 20192 min

ดีดขึ้นช่วงสั้นมองแค่ Technical Rebound ก่อน

ปรับเป้าเศรษฐกิจ !

แม้ว่าจะเกิดการดีดกลับขึ้นมาได้บ้างในระหว่างสัปดาห์ แต่ภาพรวมของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงอยู่ในทิศทางขาลงในระยะสั้น และการดีดตัวขึ้นในระยะสั้น “นายหมูบิน” มองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น โดยที่สถานการณ์ของตลาดหุ้นโลก จะยังคงเกิดภาวะ Sell Off ต่อไป หลังจากที่นักลงทุนยังคงหมุนเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset อย่างตลาดหุ้นโลก เข้าสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัย หรือ Safe Haven อย่างทองคำ และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีปรับลดลงมาที่ 1.52% ต่ำสุดตั้งแต่กลางปี 2559 และการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปีอยู่ที่ระดับ 1.48% ส่งผลให้นักลงทุนกลับมากังวลว่าจะเกิดภาวะ Inverted Yield Curve หรือภาวะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาวอีกครั้ง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นก่อนในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 30 ปีปรับตัวลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้แม้ว่าจะมีปัจจัยเชิงบวกเข้ามาจากการที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2562 จากเดิมที่มีกำหนดในวันที่ 1 ก.ย. 2562 โดยสินค้าที่ได้รับการชะลอการจัดเก็บภาษี ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ, แล็ปท็อปคอมพิวเตอร์, คอนโซลวิดีโอเกม, ของเล่น และจอมอนิเตอร์ (มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์)

นอกจากนี้ USTR ยังประกาศถอดสินค้าบางประเภทออกจากบัญชีรายการสินค้าของจีนที่จะถูกเรียกเก็บภาษีครั้งใหม่ โดยระบุถึงปัจจัยด้านสุขภาพ, ความปลอดภัย และความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งประธานาธิบดี Donald Trump ระบุว่าการที่เขาตัดสินใจชะลอการเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2562 เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของชาวสหรัฐในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

อย่างไรก็ดีจากการที่สินค้าเกษตร เครื่องครัว เสื้อผ้า และรองเท้า จะยังคงถูกจัดเก็บภาษี 10% ในวันที่ 1 ก.ย. 2562 เช่นเดิม (มูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์) ส่งผลให้นักลงทุนยังคงมองว่าภาพรวมการค้าระหว่างจีน และสหรัฐยังไม่ได้มีสัญญาณเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ ส่งผลให้ Goldman Sachs ออกมาประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไตรมาส 4 สู่ระดับ 1.8% จากเดิมที่ระดับ 2.0% โดยระบุถึงผลกระทบจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนที่มากกว่าคาด

นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน ลงด้วย โดยเฉพาะฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่ง Goldman Sachs คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮ่องกง จะหดตัว 0.5% ในไตรมาส 3 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่า GDP จะขยายตัว 2.1% สำหรับ GDP ตลอดทั้งปีนี้ คาดว่า จะขยายตัว 0.2% เนื่องจากฮ่องกงต้องเผชิญกับทั้งการขยายตัวที่อ่อนตัวของเศรษฐกิจโลก การประท้วงที่ต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศ สำหรับสิงคโปร์นั้น Goldman Sachs คาดการณ์ว่า GDP ปี 2562 จะขยายตัว 0.4% จากระดับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 1.1% และธนาคารกลางสิงคโปร์อาจจะปรับลดช่วงอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 0.5% ต่อปี จากระดับปัจจุบันที่ 1%

ในขณะที่ Goldman Sachs คาดว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ จะขยายตัว 1.9% ในปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 2.2% และคาดว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้จะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในปีนี้ ส่วนไต้หวันนั้น Goldman Sachs คาดการณ์ว่า GDP ปี 2562 ของไต้หวันจะอ่อนตัวลงเหลือ 2.3% จากระดับ 2.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ก็ยังได้รับปัจจัยชดเชยจากการที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนน้อยลง และหันมานำเข้าสินค้าจากไต้หวันมากขึ้น ดังนั้นในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, Stoxx 50 ของยุโรป และ Nikkei ของญี่ปุ่น ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วัน จะสะท้อนให้เห็นว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐในระยะสั้นยังคงมีโอกาสพักตัวต่อไป

แค่เศรษฐกิจสหรัฐกอบกู้โลกไม่ได้ : ทั้งนี้นอกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศจะส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกแล้ว ในส่วนของจีนเองก็น่ากังวลเช่นกัน หลังจากที่จีนประกาศตัวเลข Retail Sales เดือน ก.ค. 2562 ออกมาปรับตัวขึ้นเพียง 7.6% YoY ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 8.6% YoY ขณะที่ตัวเลข Industrial Production เดือน ก.ค. 2562 ขยายตัว 4.8% YoY น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 6% YoY และต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี

นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางจีนออกมาแถลงการณ์ปล่อยกู้เพิ่มขึ้นเพียง 1.01 ล้านล้านหยวน ลดลงเมื่อเทียบจากเดือน มิ.ย. 2562 ที่มียอดการปล่อยกู้ราว 2.26 ล้านล้านหยวน สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ หรือความต้องการสินเชื่อค่อนข้างอ่อนแอ โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากเศรษฐกิจที่เข้าสู่ช่วง Downturn และสงครามการค้าที่ยังคงไม่แน่นอน ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางจีนจะมีการลด Reserve Requirement Ratio หรือ RRR ลงอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสมีที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ทั้งนี้คงมีเพียงสหรัฐเท่านั้น ที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ส่งสัญญาณของการชะลอตัวที่ชัดเจน หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐประกาศตัวเลข Core CPI เพิ่มขึ้น 0.3% MoM ในเดือน ก.ค. 2562 มากกว่าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 0.2% MoM อีกทั้งถ้าเทียบเป็นรายปี Core CPI ปรับตัวขึ้น 2.2% YoY ในเดือน ก.ค. 2562 ปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดว่าจะทรงตัวที่ 2.1% YoY เท่ากับเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ตัวเลข Retail Sales เดือน ก.ค. 2562 ยังคงเพิ่มขึ้น 0.7% สูงกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายเสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ ส่งผลให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงของสหรัฐไปบ้าง และค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” มองว่าเพียงปัจจัยหนุนจากสหรัฐอย่างเดียวคงไม่สามารถดึงให้ตลาดหุ้นโลก และเอเชียกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งได้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

7