Jul 31, 20192 min

ปัจจัยลบฉุดการดีดตัวขึ้นยังคงเปราะบาง

พื้นฐานเปราะบาง !

แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นโลกจะปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นราว 0.37% ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 0.29% ส่วนในภาพรวมต้องถือว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นยุโรป, เอเชีย, จีน, ไทย และญี่ปุ่น ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความคาดหวังล่วงหน้าต่อการ “ลดดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดในวันที่ 31 ก.ค. 2562 และการที่รัฐบาลสหรัฐ และสมาชิกระดับแกนนำในสภาคองเกรสได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณแล้ว โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมงบประมาณเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะทำให้มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐด้วย เพื่อให้สหรัฐไม่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ครั้งใหม่

ขณะที่ในเชิงปัจจัยพื้นฐานต้องยอมรับว่ายังคงมีประเด็นที่น่ากังวลอยู่ และอาจเป็นแรงกดดันต่อทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะต่อไป โดยเฉพาะในส่วนของ Momentum ของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ล่าสุดสหรัฐประกาศตัวเลข Manufacturing PMI ของสหรัฐในเดือน ก.ค.2562 ออกมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.0 สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.0 โดยลดลงจาก 50.6 ในเดือน มิ.ย. 2562 ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2553

ทั้งนี้ประเด็นที่น่ากังวลคือกรณีที่ตัวเลข Manufacturing PMI ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 50 จะสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณว่าภาวะภาคการผลิตของสหรัฐกำลังหดตัว ขณะที่ทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในภาพใหญ่ยังคงมีโอกาสถูกกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปีนี้และปีหน้า โดยเตือนว่าการขึ้นภาษีเพิ่มเติมของสหรัฐและจีน หรือการแยกตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวเพิ่มเติม, การลงทุนอ่อนแอลง และขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ขณะนี้ IMF คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 3.2% ในปี 2562 และ 3.5% ในปี 2563 ซึ่งปรับลง 0.1%

สำหรับทั้งสองปีจากคาดการณ์เดือน เม.ย.2562 และเป็นการปรับลดคาดการณ์ครั้งที่ 4 ของ IMF นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561 นอกจากนี้ IMF ยังเปิดเผยว่า การขยายตัวของปริมาณการค้าทั่วโลกได้ลดลงสู่ระดับ 0.50% ในช่วงไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นอกจากนี้การที่ล่าสุดธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป โดยคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ถือว่าทำให้ตลาดผิดหวังพอสมควร โดยเฉพาะหลังจากที่ Mario Draghi ประธาน ECB ออกมาระบุว่ามีความเสี่ยงในระดับต่ำที่ยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยที่ในการประชุม ECB ไม่ได้มีการหารือเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงิน และจะรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจ ส่งผลให้ความคาดหวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปจาก -0.4% สู่ระดับ -0.5% ในเดือน ก.ย.2562 ลดลงสู่ระดับ 86%

ยุโรปปั่นป่วนฉุดตลาดหุ้นโลก : ทั้งนี้แม้ว่าในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐจะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัวสนับสนุนนอกจากประเด็นของ Earnings Season หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทจำนวนมากกว่า 18% ของดัชนี S&P 500 ได้ประกาศผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่งในจำนวนดังกล่าวราว 79% ได้รายงานตัวเลขกำไรสูงกว่าคาด หรือมี Positive Earnings Surprise แต่ดูเหมือนว่าในระยะสั้นแรงกดดันจากฝั่งยุโรปจะยังคงทำให้สถานการณ์การลงทุนของตลาดหุ้นโลกมีความไม่ชัดเจน และแม้แต่นักลงทุนในสหรัฐก็ยังคงไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐเอง สะท้อนออกมาจากการที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 4.2% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 31.7% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 32.0% ส่งผลให้ล่าสุดอัตราส่วน Bull-vs-Bear Spread ปรับตัวลดลงมาติดลบ 0.3% แล้ว

ประเด็นกดดันจากฝั่งยุโรป นอกจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนออกมาจากการที่ตัวเลข Manufacturing PMI ของยุโรปในเดือน มิ.ย.2562 ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46.4 สวนทางกับที่คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 47.6 และถือว่าเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน รวมทั้งอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2555 ขณะที่ตัวเลข German IFO business index ซึ่งเป็นดัชนีความเชื่อมั่นของเยอรมัน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 95.7 จาก 97.5 ในเดือน มิ.ย.2562 และเป็นการปรับตัวลงรายเดือนเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน ...ประเด็น Brexit ยังคงเป็นประเด็นที่สร้างความไม่แน่นอนในกับสถานการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นโลกเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ Boris Johnson ซึ่งถือเป็นผู้รณรงค์คนสำคัญที่ให้อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ในการลงประชามติในปี 2559 คว้าชัยชนะในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม และเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ทั้งนี้ชัดเจนว่า Boris Johnson มีนโยบายชัดเจนว่าอังกฤษจะต้องแยกตัวออกจาก EU ภายในเส้นตายวันที่ 31 ต.ค.2562 ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่ากรอบแนวรับ 1,680-1,700 จุด เน้น “อ่อนตัวเข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง

สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการเซียนเศรษฐกิจ ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

17