Apr 26, 20192 min

สรรพากรยังคงยกเว้นไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท

ปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ชี้แจงสรรพากรยังคงยกเว้น ไม่เก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมทุกบัญชีไม่ถึง 20,000 บาท เพียงขอเปลี่ยนวิธีการรายงานดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยให้แบงก์ซึ่งได้รับการยินยอมจากลูกค้ารายงานข้อมูลแก่สรรพากรก่อนจ่ายดอกเบี้ยให้ลูกค้า และให้แบงก์เริ่มรายงานข้อมูล 15 พฤษภาคม 2562 ก่อนการจ่ายดอกเบี้ยงวดกลางปี มิถุนายนนี้ ... อย่างไรก็ตามในที่สุดได้มีการยืดหยุ่นและทบทวนนโยบายนี้กันอีกครั้ง

งานเข้ากรมสรรพากรแล้ว คนมีเงินฝากออมทรัพย์บ่นอุบว่าได้ดอกเบี้ยเงินฝากน้อยอยู่แล้ว สรรพากรยังจะมาเก็บภาษีอีก เกิดอะไรขึ้น

ขอชี้แจงก่อนว่า ที่มีข่าวในโซเชียลมีเดียนั้นไม่จริง... ที่บอกว่ากรมสรรพากรจะยกเลิกการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ต่ำกว่า 20,000 บาท กฎหมายปัจจุบันใครที่เป็นบุคคลได้ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เราไม่เก็บภาษี

ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 20,000 บาท

มี 1 บัญชีไม่เกิน 20,000 บาท มีหลายบัญชีรวมกันก็ไม่เกิน 20,000 บาท ทีนี้ที่เราออกประกาศออกไปเมื่อ 4 เมษายน กรณีคนหนึ่งมีหลายบัญชีได้ดอกเบี้ยบัญชีนั้น 3,000 บัญชีนี้ 5,000 เหมือนว่ามีรายได้ไม่เกิน แต่ความจริงรวมแล้วเกิน 20,000 บาท ซึ่งจริงๆ ต้องถูกหักภาษีทุกบัญชี แต่ในทางปฏิบัติมีคนหลงลืมบ้างหรือไม่รู้ ธนาคารก็ไม่ได้หักภาษี เมื่อธนาคารไม่ได้หักก็เกิดปัญหามีความผิดทั้งผู้เสียภาษี คือ ผู้ฝากเงินกับธนาคาร

ปัญหานี้เกิดมาเป็น 10 ปี และเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วเราประกาศ ยกให้เป็นภาระหน้าที่ที่ผู้ฝากเงินเป็นผู้เสียภาษี เพราะผู้ฝากผู้เสียภาษีต้องรู้ดีว่าทุกบัญชีรวมกันเกิน 20,000 หรือเปล่า ถ้าคิดว่าไม่เกินก็บอกธนาคารว่าไม่เกิน ธนาคารก็ไม่หักภาษี แต่ถ้าเกินก็ให้บอกธนาคารแต่ละธนาคารว่ามีรายได้ดอกเบี้ยเกิน 20,000 แล้วธนาคารก็หักไว้

ทีนี้เกิดช่องว่างว่า บางคนก็เจตนา หรือไม่เจตนาไม่หักภาษีกัน ตอนหลังเราก็คิดว่าจะทำอย่างไรดี แบงก์เองก็กังวลเรื่องนี้ เพราะแบงก์เองขาหนึ่งถ้าไม่หักเขาก็มีความผิด

ท้ายสุดเทคโนโลยีมันก้าวไกลเราก็บอกว่าเปลี่ยนรูปแบบแล้วกัน จากเดิมแทนที่ผู้เสียภาษีหรือผู้ฝากเงินเป็นคนแจ้งเสียภาษีเอง เปลี่ยนเป็นให้ผู้เสียภาษีแค่บอกแบงก์ว่าให้แบงก์ช่วยส่งข้อมูลของผู้ฝากให้กรมสรรพากร กรมสรรพากรได้ข้อมูลมา ก็จะจับชนข้อมูลให้ด้วยเลขประจำตัว 13 หลัก แล้วกรมจะส่งข้อมูลให้แบงก์ต่างๆ ว่า นาย ก. คนนี้รวมทุกบัญชีแล้วไม่เกิน 20,000 แบงก์ไม่ต้องไปหักภาษีเขาแค่นั้นเอง

ถ้าทำแบบนี้กรมสรรพากรจะเป็นคนรวบรวมข้อมูลให้ไป และส่งกลับไปที่แบงก์ เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด win-win ด้วยกันทุกฝ่าย

จริงๆ ยังคงเว้นภาษีให้ เพียงแต่เปลี่ยนแค่รูปแบบการรายงานตนเองว่าขอให้แบงก์ช่วยส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรก่อน ถ้าไม่มาทำหนังสือยินยอมให้แบงก์แจ้งกรมสรรพากร กำหนดให้แบงก์หักเงินภาษีเอาไว้ก่อน

ที่ผ่านมาแบงก์ไม่ได้ส่งใช่ไหม

ที่ผ่านมาแบงก์จะส่งตอนที่จ่ายดอกเบี้ยถูกหักภาษีไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงล่าสุดนี้จะเป็นการส่งข้อมูลมาก่อนหัก ซึ่งเดือนมิถุนายน บัญชีออมทรัพย์จะจ่ายดอกเบี้ยครึ่งปี ดังนั้นก่อนมิถุนายนแบงก์จะต้องส่งข้อมูลมาให้สรรพากรก่อน สรรพากรจะรวบรวมให้แล้วจะบอกกลับไปที่แบงก์ว่าคนนี้จะต้องหักหรือไม่หักภาษี แล้วตอนปลายปีก็เหมือนกัน แบงก์ก็จะต้องส่งตอนพฤศจิกายน เพื่อดูว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้ตอนธันวาคมจะหักหรือไม่หัก คือแค่ตัดรูปแบบให้สะดวกที่สุด

สรุปแล้วตอนนี้ยังยกเว้นการเก็บภาษีดอกเบี้ยอยู่ถ้าได้ดอกเบี้ยรวมไม่เกิน 20,000 บาท

ยกเว้นอยู่ไม่ได้แตะเรื่องตรงนั้นเลย แต่เปลี่ยนรูปแบบการรายงานเท่านั้น เหมือนเดิมทุกอย่าง แค่เพิ่มเงื่อนไขว่าให้คนฝากช่วยบอกแบงก์หน่อยว่าให้ส่งข้อมูลให้กรมด้วย

ทีนี้จะมีคำถามว่าสมมุติไม่บอกแบงก์(ว่ามีดอกเบี้ยเงินฝากกับแบงก์อื่นๆด้วย) ก็ถือว่าแบงก์ไม่รู้ ถ้าแบงก์ไม่รู้ก็ต้องหักก่อนนำส่งกรม ถามว่าเหตุการณ์นี้จะทำอย่างไรต่อไปผู้เสียภาษีก็ไม่ได้เสียสิทธิ์การลดหย่อน ก็จะรวมคำนวณปลายปียื่น ภ.ด. 90 ขอคืนที่หักไปแล้วก็ได้เหมือนเดิมเพียงแต่เสียเวลาเพิ่มขึ้น .. เราจึงแนะนำผู้ฝากเงินช่วยแสดงความประสงค์ยินยอมให้แบงก์ที่ฝากเงินว่าให้ส่งข้อมูลให้กรมสรพากรได้ เพราะว่ามันเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ถ้าไปดูข้อมูลการฝากเงินธนาคารแห่งประเทศไทยมีเกือบ 100 ล้านบัญชีที่เป็นออมทรัพย์ ซึ่ง ร้อยละ 99.99 เป็นบัญชีที่ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท ดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิน 20,000 บาทนั้นเงินต้นต้องมีประมาณ 4 ล้านบาท แทบไม่มีใครมาฝากออมทรัพย์ด้วยวงเงินเกิน 4 ล้านบาท เพราะฉะนั้นประชาชนร้อยละ 99 ไม่ได้รับผลกระทบจากตรงนี้

ตอนแรกแตกตื่นกัน มีบางคนได้ข้อมูลที่คนเข้าใจว่าโดนกันหมด ไม่ได้ยกเว้นเหมือนก่อน ต่อไปนี้ฝากต่ำกว่า 20,000 ก็โดนด้วย

ไม่โดนครับ อาจจะเข้าใจผิดเพราะไปอ่านประกาศข้อสุดท้ายว่าถ้าไม่แจ้งความประสงค์ก็ให้แบงก์หักไปก่อนแล้วไปขอคืนทีหลังเท่านั้นเอง

งานนี้เลยมองไปว่าถึงขั้นออกมารีดเลือดจากปูแบบนี้ สงสัยว่าสรรพากรคงถังแตกแล้ว

ไม่หรอกครับ ความจริงภาษีจากดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ว่าตรงนี้ไม่ได้เยอะ ไม่มีนัยสำคัญในเชิงจัดเก็บรายได้เลย

ทุกวันนี้เราได้ภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมแล้วประมาณเท่าไหร่

เฉพาะดอกเบี้ยคร่าวๆ จาก 9 แบงก์หลักรวมแล้วครึ่งปีประมาณ 400-500 ล้าน เพราะจ่ายทีละครึ่งปี ถ้าเต็มปีก็ไม่เกิน 1,000 ล้านซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับผลจัดเก็บของสรรพากรแต่ละปีถึง 2 ล้านล้านบาท

ไม่ใช่ไม่สนับสนุนการออม ที่บอกว่าคนมีเงิน 4 ล้านคงไม่ไปฝากออมทรัพย์ได้ดอกเบี้ยน้อยกว่าฝากประจำ เงินที่ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์คงมีเจตนาอื่นๆ มากกว่าแค่ต้องการผลตอบแทนดอกเบี้ย

ใช่ครับ ถ้าผมเองมีเงิน 4 ล้านในออมทรัพย์ ดอกเบี้ยมากสุด 0.5 ก็ไปฝากประจำ ไปซื้อกองทุนรวม ไปซื้อตราสารหนี้ ลงทุนหุ้น เพราะฉะนั้นออมทรัพย์ทุกวันนี้เป็นบัญชีพักเงิน ถ้าพูดกันตรงๆ ทั้งใช้เข้าเงินเดือน เอาไว้ตัดค่าไฟค่าน้ำ หรือว่าใช้จ่ายในยามจำเป็น ฉุกเฉิน

ในอีกมุมหนึ่งแสดงว่าการออมของคนไทยเรายังน้อยอยู่ใช่ไหม

พอดีกรมเพิ่ม ทำบทศึกษาไว้เหมือนกัน พบว่าถ้าคนมีเงินอันดับแรกก่อนจะออมเขาจะซื้อประกันซื้อกองทุนมากกว่า เรื่องการออมจะมาท้ายๆ

แล้วถ้าจะซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี เครดิตภาษี ต้องแจ้งสรรพากรก่อนด้วยไหม

คือในอดีตระบบภาษีเราประเมินตนเองต้องมีเงินได้ ค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนเท่าไหร่ สมมุติผมจะลดหย่อนอะไรก็เก็บข้อมูลกระดาษไว้ แต่ทุกวันนี้กรมเราพยายามจะเป็นดิจิทัล พยายามจะเก็บข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด มันก็เริ่มมาจากเบี้ยประกันสุขภาพ คือต่อไปนี้ถ้าเราเลือกได้จะไม่เอากระดาษแล้ว เพียงแต่ว่าไม่สามารถทำทีเดียวว่าต่อไปนี้ทุกอย่างที่ประชาชนไปลงทุนออมจะต้องส่งอิเล็กทรอนิกส์ให้กรม เราอยากทำแต่ทำไม่ได้ในทีเดียว เราก็ทยอยทำทีละโปรดักต์ ก็ทำที่เกี่ยวกับแบงก์ก่อน เพราะแบงก์กับเรามีระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว มันไม่ต้อ

ลงทุนอะไรเพิ่ม

ทีนี้ถ้าบุคคลธรรมดาทำธุรกิจด้วย เป็นเจ้าของ SME ด้วย บัญชีออมทรัพย์จะได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยฝากไม่เกิน 20,000 ด้วยใช่ไหม

คือภาษีเงินได้เราแบ่งเป็นบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล อันนี้เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าบังเอิญในข้อเท็จจริงเขาประกอบธุรกิจในรูปบุคคล เขาเปิดบัญชีนี้มาเพื่อพักเงินแล้วเป็นชื่อเขา ในทางปฏิบัติเราดูไม่รู้หรอกคือเป็นชื่อของเขา แม้ว่าเขาจะเอาอันนี้ไปทำธุรกิจ แต่ที่จริงถ้าบุคคลทำธุรกิจโดยความเป็นจริงควรจะแยกทำเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว เพราะลงรายรับรายจ่ายได้ขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี เพราะบุคคลขาดทุนก็ต้องเสียภาษีเพราะเป็นระบบเหมาจ่าย

สุดท้ายช่วยสรุปชัดๆ ว่าคนฝากเงินแบงก์แล้วได้ดอกเบี้ยต้องเสีย หรือไม่ต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง

1. ใครฝากเงินแล้วได้ดอกเบี้ย เช่น ออมทรัพย์ทั้งปีรวมกันบัญชีเดียวหรือทุกบัญชีไม่เกิน 20,000 บาท ยังยกเว้นภาษีทุกอย่าง

2. ที่กรมแก้ไขประกาศไปล่าสุดเพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยท่านแสดงตัวเองว่าท่านมีดอกเบี้ยไม่ถึง แต่วิธีการคือให้ผู้ฝากช่วยติดต่อแบงก์ฝากเงินให้ช่วยแจ้งความประสงค์ต่อกรม แค่นี้ 2 ข้อ win-win ทุกฝ่าย

อนึ่ง หลังจากมีประกาศขั้นตอนการรายงานการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% จนเกิดความสับสนและวิจารณ์กันมากมายประชาชนผู้ฝากเงินเกิดความตื่นตระหนกและสับสนว่ากรมสรรพากรจะเข้าไปเก็บดอกเบี้ยจากเงินฝากจากทุกบัญชี จากเดิมที่เว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ ที่ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี ... ทางสมาคมธนาคารได้เข้าหารือกรมสรรพากรเมื่อ 23 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ระบุเป็นกระบวนการที่สร้างความยุ่งยากให้ผู้ฝากรายย่อย จากนั้นนายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ออกมากล่าวเพิ่มเติมว่า กรมสรรพากร ได้พิจารณาตามข้อร้องเรียนแล้ว จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และเงื่อนไขภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 15% และจะออกประกาศใหม่ภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ โดยประกาศใหม่จะแก้ไขในประเด็นการแสดงความยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนยุ่งยาก โดยอาจให้กลุ่มที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่า 20,000 บาทต่อปี ซึ่งมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% มาลงทะเบียนแสดงความยินยอมให้แบงก์ส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากแทน ทำให้ผู้ฝากเงิน 99% ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด 80 ล้านบัญชี ไม่ต้องแสดงตน และได้รับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากเหมือนเดิม

นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยเสนอให้มีการเลื่อนการบังคับใช้ประกาศออกไป เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมาก ซึ่งจะต้องรอดูกันต่อไปว่ากรมสรรพากรจะมีผลสรุปในรายละเอียดออกมาอย่างไร

76