Jan 24, 20192 min

ดีดขึ้นในระยะสั้นเป็นโอกาสขายก่อน

ขึ้นแค่ชั่วคราว !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงแกว่งตัวขึ้นต่อได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้น 0.93% ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นสำคัญสำคัญอื่นๆอย่างตลาดหุ้นสหรัฐ, ญี่ปุ่น, จีน และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวขึ้น 1.51%, 1.39%, 1.26% และ 1.14% ตามลำดับ แม้ว่าจะยังเผชิญหน้ากับความผันผวนและความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นสหรัฐยังคงได้รับปัจจัยเชิงบวกจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐที่ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงการส่งสัญญาณชะลอตัวปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ นอกจากนี้จำนวนแรงงานที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว น้อยกว่าที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 220,000 ราย จากตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐ

ขณะที่ประเด็น Brexit ถึงแม้ร่างข้อตกลง Brexit ของนางเมย์ได้รับการยอมรับจากผู้นำสหภาพยุโรป (EU) แต่ยังมีประเด็นที่กดดันคือการควบคุมชายแดนระหว่างสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่มีโอกาสเป็นไปได้ 3 รูปแบบ 1. ให้มีการจัดการลงประชามติ Brexit ครั้งใหม่หรือเลือกตั้งใหม่หากแผนการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปต่อรัฐสภาไม่ผ่านอนุมัติ 2. สหราชอาณาจักรจะออกจากกลุ่มสหภาพยุโรปแบบ “No Deal” และ 3. ขยายระยะเวลามาตรา 50 ออกไป (สหราชอาณาจักรมีเวลา 2 ปีในการถอนตัวจากกลุ่มสหภาพยุโรป มาตรานี้ว่าด้วยสิทธิการออกจาก EU รวมทั้งระเบียบขั้นตอนการออกจากกลุ่ม) ซึ่งทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลก, สหรัฐ, ญี่ปุ่น, จีน และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวขึ้นมาแล้วถึง 5.09%, 5.02%, 3.29%, 4.78% และ 5.27% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีในด้านของความเสี่ยง “นายหมูบิน” มองว่าการที่ตลาดหุ้นสหรัฐกลับมาเป็นปัจจัยหนุนการปรับตัวขึ้นอีกครั้งของตลาดหุ้นโลกในช่วงหลังปีใหม่ 2562 ที่ผ่านมา จะเป็นเพียงแค่สถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น จากประเด็นในเรื่องของระดับราคา เนื่องจากถ้าพิจารณาจากระดับ Earnings Yield Gap ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นราคาน่าสนใจ ซึ่งจะประเมินด้วยการเอา Earning Yield (1/PE Ratio) ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้นมาลบด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี แล้วเทียบว่าค่า Earning Yield Gap ที่หาได้ในปัจจุบันมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สามารถบอกเป็นนัยว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ “แพงเกินไป” หรือ “Overvalued” เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต บอกเป็นนัยได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆอยู่ในเกณฑ์ “ถูกเกินไป” หรือ “Undervalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า Earnings Yield Gap ของสหรัฐยังคงอยู่ที่ระดับ 2.87% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าระดับราคาในปัจจุบันของตลาดหุ้นสหรัฐ “แพงเกินไป” หรือ “Overvalued”

ยังไม่จบการพักฐาน : ในเชิงแนวโน้มทางเทคนิคของ SET ในระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ Fib Node 0.618 บริเวณ 1,700 จุดได้ ยังคงไม่มีสัญญาณซื้อ และการดีดตัวขึ้นช่วงสั้นให้มองเป็นแค่การ Technical Rebound ไว้ก่อน

ในทางตรงกันข้ามถ้า SET ทำจุดต่ำใหม่ หรือ Lower Low ต่ำกว่า 1,580 จุด บริเวณ Fib Node 1.618 หรือ 1,490 จุดจะทำหน้าที่เป็นแนวรับต่อไป เนื่องจากตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคยังคงมีความเสี่ยงอยู่มาก ซึ่งจะกดดันการดีดตัวขึ้นของ SET ในระยะต่อไปแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นในภูมิภาคที่ล่าสุดข้อมูลทางการค้าของจีนย้ำให้เห็นถึงความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หลังพบว่ายอดส่งออกในเดือน ธ.ค.2561 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 4.4% ในขณะที่ตัวเลขนำเข้าก็ลดลง 7.6% สะท้อนถึงอุปสงค์อันเบาบางทั้งในประเทศ และต่างแดน

แม้ว่าตลาดหุ้นจีนจะยังได้รับปัจจัยเชิงบวกหลังจากรัฐบาลจีนเตรียมปรับลดภาษีครั้งใหญ่ เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงในขณะนี้ นอกจากนี้รัฐบาลจีนจะหลีกเลี่ยงการอัดฉีดสภาพคล่องที่สูงเกินไป และจะพยายามรักษาอัตราส่วนโครงสร้างทางการเงินให้มีเสถียรภาพ โดยธนาคารกลางจีนจะพยายามปรับปรุงการเปลี่ยนผ่านทางด้านนโยบาย และลดต้นทุนทางการเงิน ขณะที่ทิศทางของค่าเงินจะกดดันให้ทิศทางของเงินทุนชะลอการกลับเข้ามาในตลาดหุ้นภูมิภาคต่อไป หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี US Dollar Index ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 0.55% สวนทางกับดัชนี Asian Dollar Index ของค่าเงินเอเชียที่อ่อนค่าลง 0.27% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ระดับ 31.73บาท/ดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์แข็งขึ้นเช่นกันราว 0.60%เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,670 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ ทาง FM 101 เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

15