Dec 3, 20181 min

โลกจับตาประชุม OPEC...ทิ้งทวนท้ายปีน้ำมัน

Interview: คุณอนินทิตา เพราแก้ว ผู้จัดการ งานฝ่ายแผนและบริหารบริษัทในเครือสายการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)


ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ขึ้นอยู่กับดีมานด์/ซัพพลายเท่านั้น แต่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาเอี่ยว ทั้งเรื่องการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ มาตรการคว่ำบาตร Trade War ท่าทีสหรัฐในฐานะผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก ท่าทีของซาอุฯ-รัสเซียในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ระยะสั้นให้จับตาการประชุมโอเปกพลัส 6 ธ.ค.นี้ ส่วนปีหน้า กลุ่มปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

เกิดอะไรขึ้นกับราคาน้ำมันดิบโลกที่ตกลงมาในขณะนี้

เป็นเรื่องที่อกสั่นขวัญผวาพอกันกับตลาดหุ้น หลังจากที่ทำนิวไฮท์ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม ทะลุ 80 เหรียญขึ้นไป มีปัจจัยหลายตัวออกมากดดัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่ออกมาผ่อนผันผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านให้นำเข้าได้ต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ประเด็นอิหร่านเป็นปัจจัยที่ผลักดันราคาขึ้นไป เพราะตลาดกังวลว่าถ้าอิหร่านส่งออกได้น้อยน้ำมันจะพอใช้ไหม อุปทานอาจจะตึงตัว แต่พอสหรัฐออกมาประกาศว่ามีการผ่อนผันอีก 180 วันจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าความกังวลตรงนี้ก็ผ่อนคลายลง

ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ เชลล์ออยล์ของสหรัฐขึ้นได้เร็วมาก และตอนนี้กระทรวงพลังงานสหรัฐคาดการณ์ว่าในเดือนธันวาคมการผลิตจะแตะระดับ 7-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถ้าย้อนกลับไป 3-4 ปี เชลล์ออยล์ผลิตอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านบาร์เรลต่อวันเท่านั้น ถือว่าเป็นอัตราการเติบโตก้าวกระโดดของสหรัฐ และที่สำคัญบทบาทเขาชัดเจนมากในตอนนี้ ถ้าดูสถิติรายสัปดาห์สหรัฐกลับมาเป็นผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลกแล้ว ผลิตอยู่เหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรล ถ้าตามคาดการณ์จริงในเดือนธันวาคมจะผลิตที่ 11.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน แซงหน้ารัสเซียและซาอุดิอาระเบีย

สถานการณ์แบบนี้นักลงทุนจะปรับตัวรับสภาพอย่างไร

ในส่วนของน้ำมันอยากให้ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากประเด็นดีมานด์และซัพพลายแล้ว ในช่วงหลังแม้การแต่คว่ำบาตรอิหร่าน หรือการค้าระหว่างประเทศ การปรับขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐและจีน ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ล้วนเข้ามามีบทบาทต่อน้ำมันมากขึ้นและกระทบการเปลี่ยนแปลงของราคาทำให้มีความผันผวนสูง

ข้อสำคัญเราอยากให้ติดตามประเด็นเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ในระยะสั้นวันที่ 6 ธันวาคมนี้โอเปกจะมีการประชุมในกรุงเวียนนาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาสถานการณ์ตลาดและการผลิตให้รองรับ เพื่อสร้างสมดุล ตรงนี้จะเป็นจุดหนึ่งที่มีผลต่อราคาน้ำมันว่าจะขึ้นหรือลง ถ้าโอเปกทำตามข่าวที่ออกมาเปิดเผยเป็นระยะในช่วงหลังว่าจะลดการผลิตอีกอย่างน้อย 1-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตรงนั้นอาจจะทำให้ตลาดกลับมาในทิศทางขาขึ้นอีกครั้ง

แต่ในระยะสั้น เดือนธันวาคม ธนาคารกลางสหรัฐ อาจมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แล้วจะเกี่ยวอะไรกับราคาน้ำมัน เกี่ยวข้องกันแน่นอนเพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งขึ้น ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันส่วนใหญ่นำเข้าน้ำมันเป็นดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อดอกเบี้ยสูง ประเทศ Emerging Country อย่างพวกเราต้องนำเข้าหรือซื้อน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น ก็อาจจะกดดันให้การใช้น้ำมันลดลงได้

ตรงนี้อาจจะทำให้ราคาไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก แต่ก็มีปัจจัยต่างๆที่ต้องจับตาดู ซึ่งรวมถึงปีหน้าเมื่อการคว่ำบาตรหรือการผ่อนผันที่จะนำเข้าน้ำมันอิหร่านสิ้นสุดลงในไตรมาสแรก ว่าจะทำให้ทิศทางเปลี่ยนแปลงอย่างไร ตลาดจะมีซัพพลายเพียงพอหรือไม่

คิดว่าที่ประชุมโอเปกวันที่ 6 ธ.ค.จะมีมติลดกำลังการผลิตมากกว่าเก่าไหม

ถ้าเป็นไปตามนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองไว้ หลังจากที่สหรัฐออกมาพูดเรื่องคว่ำบาตรหลายครั้งเมื่อกลางปี โอเปกผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านบารร์เรลต่อวัน ถ้าจะมีการปรับลดลง มองว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจจะปรับลดลงในสัดส่วนที่เท่ากัน คืออาจจะลดลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่สิ่งสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ โอเปกปัจจุบันไม่ธรรมดา เราเรียกว่าโอเปกพลัส เพราะรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่มาร่วมมือด้วย โดยรัสเซียยังให้ความร่วมมือกับโอเปกต่อไป ตรงนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะร่วมมือลดกำลังการผลิตกันอย่างแข็งขัน แต่ถ้ารัสเซียบอกพอแล้ว ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับโอเปก แต่ตอนนี้ขอผ่อนสถานการณ์ อาจไม่มีความแน่นอน

ในกลุ่มปตท.เราคาดการณ์ไว้ โดยเรามองถึงปีหน้าว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-80 เหรียญสรัฐต่อบาร์เรล จะไม่แตกต่างจากช่วงปัจจุบันมากนัก

ทำไมประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงเรียกร้องให้กลุ่มโอเปกผลิตน้ำมันเพิ่ม ทั้งที่ทำให้ราคาตก แล้วราคานี้ก็กระทบต่อราคาเชลล์ออยล์ของสหรัฐ

ในทีมเราเคยหารือกันว่า ตั้งแต่ต้นปีทรัมป์ทวิตกลางเทอมข้อความที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันบ่อยมาก โดยเฉพาะในช่วงก่อนเลือกตั้งกลางเทอม เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นก็กดดันทรัมป์เหมือนกันเพราะถ้าประชาชนจับจ่ายใช้สอยแพงขึ้น การที่จะได้รับเลือกตั้งหรือเสียงของพรรคริพลับลิกันอาจจะลดลง แต่หลังจากการเลือกตั้งเสร็จไปแล้วก็มีออกมาทวิตครั้งหนึ่ง เป็นการทวิตที่ใกล้เคียงกับซาอุดิอาระเบียมาประกาศลดการส่งมอบน้ำมันในเดือนหน้าลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ทรัมป์บอกไม่จำเป็นต้องลดแบบนี้ก็ดีแล้ว

ถ้ามองประเด็นนี้สหรัฐ ยังเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ดี ถึงบทบาทจะมีการส่งออกมากก็ตาม ตรงนี้ถ้าฐานเสียงของทรัมป์ส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกร เป็นผู้ที่ใช้น้ำมัน ก็เป็นการซื้อใจในระดับหนึ่งของทรัมป์ จึงต้องติดตามดูว่าน้ำหนักของทรัมป์จะมีผลมากน้อยแค่ไหน จากที่เราเทียบเคียงการทวิตของทรัมป์จะมีช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงราคาบ้างในบางครั้ง แตกต่างจากที่รัฐมนตรีซาอุดิอาระเบียออกมาพูดหรือรัฐมนตรีน้ำมันของรัสเซียออกมาพูด ตรงนั้นค่อนข้างให้น้ำหนักเร่งด่วนและน้ำหนักที่แรงกว่า เพราะถือว่าเป็นสมาชิกโดยตรงกับตลาดน้ำมันและผู้ส่งออกรายหลัก

ทางด้านซัพพลายจะเป็นตัวหลักที่มีผลต่อราคาน้ำมัน ด้านดีมานด์ไม่ค่อยมีปัญหาใช่ไหม

ในเรื่องดีมานด์ยังเติบโตได้ดี เราดูได้ที่ราคา และทุกสำนักไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงานสหรัฐ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศหรือที่เรียกว่า IEA แม้แต่โอเปกยังมองว่าอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ปีหน้าจะอยู่สูงกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพียงแต่ต้องเฝ้าระวังประเด็น Trade War ซึ่งจะมีผลกดดันความต้องการใช้ได้บ้าง

35