Apr 19, 20181 min

จับตางบ บจ. Q1/61...เป็นเวลาซื้อหุ้นแบงก์

ถึงฤดูกาลประกาศงบฯไตรมาส 1/2561 ที่จะทยอยปล่อยออกมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์ ที่ว่าอาจไม่สวยหรูตามคาดการณ์ แต่นักวิเคราะห์แนะนี่คือจังหวะที่จะค่อยๆ ทยอยสะสมหุ้นแบงก์ เพราะดัชนีมีสิทธิ์กลับไปทดสอบที่ 1,800 แนวโน้มใหญ่ยังมีเป้าหมายดัชนีไปถึง 1,900 และหุ้นแบงก์คือตัวดันดัชนี ขณะที่หุ้นพลังงานน่าจะได้อานิสงส์จากการระเบิดสงครามซีเรีย

ไม่เพียงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยท่านั้น ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาก็เริ่มประกาศและจะมีผลต่อหุ้นอเมริกา ที่เป็น ผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นในตลาดโลกอื่นๆรวมทั้งไทย นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก หรือ GBS กล่าว

ว่าปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่องในขณะนี้ ได้แก่ การประกาศงบของกลุ่มแบงก์พาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1/2561 คาดผลการดำเนินงานของแบงก์ใหญ่ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ยังถูกกดดันจากการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชี IFRS9 ขณะที่ยอดสินเชื่อสุทธิโดยรวมยังหดตัวเมื่อเทียบกับปลายปี 2560

นอกจากนี้ด้านต่างประเทศปัจจัยหนุนจากการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากได้รับผลดีจากนโยบายปฏิรูปภาษีทำให้ค่าใช้จ่ายภาษีลดลง

อีกทั้งทางจีนรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีในช่วงไตรมาส 1/2561 ได้แก่ ตัวเลข GDP ขยายตัว 6.8% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 8.9% การลงทุนด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 10.4% และตลาดแรงงานจีนยังมีเสถียรภาพ และราคาน้ำมันทรงตัวใกล้ระดับราคาสูงสุดในรอบ 3 ปีหนุนหุ้นกลุ่มน้ำมัน

บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี (AECS) แนะนำการลงทุน “แบ่งซื้อสะสม” โดย Selective Buy หุ้นที่คาดจะ Outperform โดยให้น้ำหนักไปยังหุ้นกลุ่มพลังงาน ซึ่งได้อานิสงส์ราคาน้ำมันยังสูงเกิน 65 ดอลลาร์/บาร์เรล มองว่าที่จะเป็นตัวนำของกลุ่ม ได้แก่ PTT, PTTEP ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะยังฟื้นตัวต่อหลังปรับลงแรงก่อนหน้า โดยให้น้ำหนักการลงทุนไปยังหุ้น KBANK, SCB, BBL, TMB

นายอิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตในปี 2561 ยังดูดีโดยมีสัญญาณจากการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคยังแข็งแกร่งต่อเนื่องจากปีก่อน เมื่ออิงกับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจทั่วโลกน่าจะขยายตัว 3.9%

“ปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงหลักๆ 2 อย่างเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงิน ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งอาจส่งผลฉุดรั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญอยู่ที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่อาจปรับขึ้นเร็วกว่าคาดเนื่องจากปัจจัยกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีก จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น และ output gap เป็นบวกมากขึ้นซึ่งบ่งบอกว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตตึงตัวมากขึ้นสอดคล้องกันในหลายๆ ภาคธุรกิจ ชี้ให้เห็นว่าโมเมนตัมการเติบโตอาจแข็งแกร่งกว่าคาดในสหรัฐ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 4 ครั้งในปีนี้ เร็วกว่าที่ตลาดคาดว่าน่าจะขึ้นเพียง 3 ครั้ง

SCBS มองว่า ความกังวลที่จะเกิดสงครามการค้าทั่วโลกกลับมาอีกครั้ง นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายปี 2559 สหรัฐฯ ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องซักผ้า เหล็ก อลูมิเนียม ซึ่งแม้จะมีการผ่อนปรนให้กับคู่ค้าบางประเทศเช่น ออสเตรเลีย แคนนาดา เม็กซิโก ฯลฯ แต่การประกาศเตรียมขึ้นภาษีระรอกล่าสุดที่มีการตอบโต้ไปมาระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามการค้ามากขึ้น”

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนประจำไตรมาส 2/2561 จะเคลื่อนไหวแบบ sideways แต่ยังคงเป้า SET index สิ้นปี 2561 ไว้ที่ 1,900 จุด

สำหรับหุ้น Top Picks ประจำไตรมาส 2 ปี 2561 เลือกกลุ่มธนาคาร เพราะสินเชื่อจะกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้นและคุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้เลือกกลุ่มพาณิชย์เพราะงบประมาณกลางปีจะเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายรากหญ้า สุดท้าย กลุ่มการแพทย์ เนื่องจากเป็นหุ้น laggard และกำไรจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน ปี 2561 ประกอบกับ เทรนด์ใหม่ของธุรกิจประกันสุขภาพซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาว

28