Mar 25, 20181 min

ปลุกเศรษฐกิจ...งบกลางปีแสนล้านอุ้มรากหญ้า & งบ 'ลงทุนรัฐ' ฉลุย!

ผ่า “งบกลางปี 2561” 150,000 ล้านบาท อัดเม็ดเงินกว่า 1 แสนล้านบาท มุ่งช่วยรากหญ้าและรากฐานเศรษฐกิจไทย มีทั้งปฏิรูปโครงสร้างการผลิตเกษตร, เสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาคุณภาพชีวิต, ทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจกับพัฒนาศักยภาพชุมชนเป็นหลักใหญ่ ผอ.สำนักงบฯ “เดชาภิวัฒน์” เผยครึ่งทางงบรายจ่าย 2561 เงินกว่า 2.9 ล้านล้านบาท ใช้จ่ายประจำเป็นไปตามเป้า ขณะที่ “งบลงทุน” 660,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่มั่นใจได้ว่าภายในต้นปี 2561 มีเม็ดเงินลงทุนรัฐ 300,000 ล้านบาท เข้าสู่ระบบการใช้จ่ายผลักดันช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หนุนจีดีพีเติบโตตามเป้าหมาย

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ คนใหม่ โดยเพิ่งเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงงบประมาณกลางปี 2561 ว่า งบกลางปี เป็นรายการที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง มีความจำเป็นที่จะต้องมีรายจ่ายงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับปี 2561 ประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ 100,358 ล้านบาท และชดใช้เงินคงคลังประมาณ 49,600 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณกลางปี 2561 จะแบ่งออกเป็น 3 แนวทางหลักๆ คือ จัดสรรเพื่อปฏิรูปโครงสร้างทางด้านการผลิตภาคการเกษตรประมาณ 24,000 ล้านบาท เป็นเรื่องของการเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกประมาณ 21,000 ล้านบาท และเป็นเรื่องของการจัดทำตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชนอีกประมาณ 50,300 ล้านบาท

“ในส่วนเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาคการผลิตด้านการเกษตรประมาณ 24,000 ล้านบาทนั้น เป็นการพัฒนาด้านการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีเป้าหมายที่จะลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิต ปรับโครงสร้างทางการเกษตร สร้างทักษะในการประกอบอาชีพให้กับเกษตรกรรายย่อยตามวิถีพอเพียง เป็นการส่งเสริมการตลาดสมัยใหม่” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าวและเปิดเผยงบรายจ่ายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประมาณ 21,000 ล้านบาท ว่ามีเป้าหมายในเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในระยะที่สอง คือให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ คือการฝึกทักษะ ส่วนเรื่องสุดท้ายคือการจัดทำตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชนอีกประมาณ 50,300 ล้านบาท เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ตามวิถีไทยยั่งยืน และเป็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม เข้าถึงแหล่งเงินทุน คือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน

“เป้าหมายผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังจากการใช้เงินงบประมาณเพิ่มเติมกว่า 150,000 ล้านบาท เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือเรื่องยกระดับสวัสดิการ เราก็มีเป้าหมายคือผู้ที่ถือบัตรประมาณกว่า 11 ล้านคน อาจจะมีการได้รับเงินเพิ่มในบัตร แต่ทั้งนี้เราอยากเห็นว่าจะมีการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำลงและเพิ่มรายได้ให้กับเขา โดยเป้าหมายแรกสำหรับผู้ที่มีรายได้ประมาณ 30,000 บาทต่อปี ยกระดับให้กลุ่มนี้มีรายได้ที่สูงขึ้น มีเป้าหมายเบื้องต้นที่กว่า 1 ล้านคน ผู้ที่จะมาลงทะเบียนรอบนี้ จะต้องแสดงความประสงค์ที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนคือหมายความว่า ต้องมีการฝึกอาชีพ ส่งเสริมทักษะ ไม่ใช่ว่ารับเงินแล้วไม่ได้ทำอะไรต่อ เราอยากเห็นว่าเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี และก็จะมีเรื่องของการสร้างแฟรนไชซี และสตรีตฟู้ดของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาเสริม งบที่ใช้ประมาณ 21,000 ล้านบาท

สำหรับเรื่องไทยนิยมยั่งยืนหรือท่องเที่ยวชุมชนนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณคาดหวังไว้ว่าหมู่บ้านกว่า 3,600 แห่ง เราทราบอยู่แล้วว่ามีผู้ที่จะไปซื้อของเป้าหมายกลุ่มโอท็อป ส่งเสริมอาชีพ จากนั้นก็อยากให้ไปดูเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่บริเวณหมู่บ้านกว่า 3,600 แห่งด้วย และมีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเข้ามา คาดหวังไว้ว่าจะมีผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตหมู่บ้านกว่า 3,600 แห่งนี้ ประมาณ 16,000 ล้านบาท จะมีรายได้ที่ดีขึ้น และมีการส่งเสริมผลิตภัณฑ์อีก โดยมีเป้าหมาย 57,000 ผลิตภัณฑ์

“คาดว่ารายได้จากท่องเที่ยวชุมชนจะเพิ่มขึ้น 10% จากปัจจุบัน ถ้ามีใครที่ส่งเสริมและอยากเข้าถึงแหล่งชุมชน เราก็มีกองทุนหมู่บ้านเพิ่มมาให้อีกประมาณกว่า 62,000 ชุมชน ส่วนไทยนิยมจะเป็นเรื่องนโยบายรัฐบาล ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่สอง หลังจากช่วงที่หนึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา คือไปสอบถามเสาะหาพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาถามประชากรว่าต้องการอะไร ส่วนช่วงที่สองเริ่มวันที่ 21 มีนาคมถึง 10 เมษายน จะเป็นเรื่องของการติดตามให้ความรู้ให้ทราบถึงสิทธิ์ หน้าที่ กฎหมาย รู้ถึงประชาธิปไตย กลไกในการบริหาร หลังจากนั้นเมื่อเราทราบแล้ว เราก็จะตอบสนองความต้องการโดยตรง ถือเป็นการที่จะอยากได้อะไรจะบริหารที่จะให้แล้วก็สู่ถึงมือชุมชนและประชาชน” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

ส่วนแนวทางสุดท้ายจะเป็นเรื่องการปฏิรูปทางด้านการผลิต ตอนนี้เราอาจผลิตมากกว่าความต้องการ ก็พยายามที่จะปรับโครงสร้าง ปฏิรูปให้อุปาทานและอุปสงค์ใกล้เคียงกัน เป็นการสร้างกลไกด้านการตลาดในการลดทางด้านต้นทุน และเป็นการสร้างทักษะในการประกอบอาชีพด้วย คือกลุ่มเป้าหมายที่เราคาดหวังก็คือว่าเกษตรกรประมาณ 5 ล้านราย จะมีรายได้เพิ่มขึ้น มูลค่าทางด้านการผลิตเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นล้านบาท จะมีแหล่งน้ำที่ต่อเนื่องกับอุปาทาน เรื่องของอุปาทานและอุปสงค์ เรื่องของการเพาะปลูกอีกประมาณกว่า 2 ล้านไร่ เกษตรกรจะได้ประโยชน์เกือบ 1 ล้านราย และก็จะมีการฝึกทักษะอีกคือต้องให้ยั่งยืน

นายเดชาภิวัฒน์ ยังเปิดเผยด้วยว่าที่ผ่านมาสำนักงบประมาณทำงานเชิงรุกมากขึ้น ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมเรื่องของการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง เราก็พยายามจะจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องและสอดรับกับนโยบายและพยายามขับเคลื่อนทุกระดับตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาให้มีรายได้ให้มีความยั่งยืน ไม่ใช่ใช้เงินไปแล้วไม่ได้ผลสัมฤทธิ์มา เหล่านี้คือสิ่งที่เราคาดหวังจากการที่จะใช้งบเพิ่มเติม หรืองบกลางปี 2561

“ปีงบประมาณ 2561 ผ่านมาแล้ว 6 เดือน การเบิกจ่ายถือว่าเป็นไปตามเป้า โดยงบประมาณปี 2561 ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท เกือบครึ่งเบิกจ่ายไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นงบจ่ายประจำก็จะสูงกว่าเป้าเล็กน้อย ส่วนงบลงทุนที่เราพยายามเร่งรัด และเราออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ ผลเบิกจ่ายยังต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่เรื่องของการก่อหนี้ กระบวนการซื้อ จัดจ้าง ประกวดราคา กำลังเซ็นสัญญา จะสูงกว่าเป้าที่เราคาดหวังไว้ ดังนั้น เงินส่วนนี้งบของการลงทุนประมาณ 660,000 ล้านบาท เราก็คาดว่าครึ่งหนึ่งประมาณ 300,000 แสนล้านบาท น่าจะเข้าระบบจ่ายได้ประมาณต้นปีนี้ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คือกลไก เรามีมาตรการเพิ่มตั้งแต่เราได้ออกประกาศตั้งแต่ต้นปีงบประมาณแล้ว เหล่านี้คือกลไกขับเคลื่อนที่จะขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ จีดีพีปีนี้น่าจะดีและเป็นไปตามเป้าหมาย”

46