Feb 16, 20182 min

จับตาอัตราผลตอบแทนพันบัตรสหรัฐ

Downside Risk ! ถ้าพิจารณาในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงมุมมองเดิมว่าตราบใดที่ SET ยังกลับไปปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 52 และ 75 ในราย 120 นาทีบริเวณ 1,810 จุดไม่ได้ การดีดตัวขึ้นระยะสั้นในราย Weekly จะเป็นเพียงการ Technical Rebound เท่านั้น ในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นโลก ที่ “นายหมูบิน” มองว่าตราบใดที่ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐ ยังกลับไปปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 52 และ 75 ในราย 120 นาทีบริเวณ 25,200 จุดไม่ได้ การดีดตัวขึ้นระยะสั้นในราย Weekly จะเป็นเพียงการ Technical Rebound เท่านั้นเช่นกัน

ปัจจัยกดดันสำคัญที่ “นายหมูบิน” เตือนว่าต้องจับตาให้ดีคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของทั้งไทย และสหรัฐ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาสวนทางกับตลาดหุ้นของทั้ง 2 ประเทศที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะผ่านการประชุม FOMC ของเฟดครั้งต่อไปในวันที่ 20-21 มี.ค.2561 ซึ่งล่าสุดเมื่อพิจารณาจาก Fed Fund Futures พบว่ามีโอกาสถึง 92.8% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

ดังนั้นในเชิงของ Downside Risk นั้น เมื่อพิจารณาผ่านเครื่องมือที่ชื่อ Earnings Yield Gap พบว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย Downside Risk ควรอยู่ที่ระดับไม่เกินค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 3.0% ซึ่งบนสมมติฐานปกติที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของไทยทรงตัวที่ระดับเดิมคือ 2.5% Downside ของ SET ในรอบนี้ไม่ควรปรับตัวลงไปต่ำกว่า 1,746 จุด ขณะที่ในกรณีแย่ และแย่มากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.25% และ 0.5% มาอยู่ที่ 2.75% และ 3.00% ตามลำดับ Downside ของ SET ในรอบนี้จะอยู่ที่ 1,670 และ 1,600 จุดตามลำดับ

ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐที่ถือว่าเป็นตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลก เมื่อพิจารณาผ่าน Earnings Yield Gap พบว่าสำหรับดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ Downside Risk ควรอยู่ที่ระดับไม่เกินค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 3.3% ซึ่งบนสมมติฐานปกติที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐทรงตัวที่ระดับเดิมคือ 2.8% Downside ของ S&P500 ในรอบนี้ไม่ควรปรับตัวลงไปต่ำกว่า 2,002 จุด ขณะที่ในกรณีแย่ และแย่มากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.25% และ 0.5% มาอยู่ที่ 3.1% และ 3.3% ตามลำดับ Downside ของ S&P500 ในรอบนี้จะอยู่ที่ 1,924 และ 1,852 จุดตามลำดับ

ความกลัวยังคงมีอยู่มาก : ประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปของเฟดยังคงเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกให้ความสำคัญมากที่สุด สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-7 ก.พ.2561) ที่พบว่าสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลงถึง 7.7% WoW มาอยู่ที่ 37.0% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงเป็นขาลงแล้ว หรือ Bearish ที่ปรับตัวขึ้น 6.3% มาอยู่ที่ 35.0% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนี VIX Index ของสหรัฐที่ยังคงแกว่งเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันที่ 11.4 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอยู่ที่ 25.0 หรือมากกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 3 เท่า สะท้อนความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อแนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าได้เป็นอย่างดีด้วย

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนว่าปัจจัยพื้นฐานยังคงไม่สนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยกลับมา Outperform หรือโดดเด่นกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคได้ สะท้อนออกมาชัดเจนจากมุมมองต่อความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้นไทยที่ล่าสุด Consensus ประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ไว้ที่ระดับ 1.0% YoY ซึ่งนอกจากจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Asia Pac ex Japan ที่ 13.3% YoY ยังถือว่าต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มตลาดหุ้น Top10 ของเอเชีย ดีกว่าเพียงแค่ตลาดหุ้นอินเดีย และมาเลเซียที่ 7.7% และ 5.6% YoY ตามลำดับ นอกจากนี้ Consensus ประมาณการ ROE ของตลาดหุ้นไทยในปี 2561 ไว้ที่ระดับ 11.3% YoY ซึ่งนอกจากจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12.2% แล้ว ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Asia Pac ex Japan ที่ 11.9% YoY ด้วย ขณะที่ในเชิงของมูลค่า (Valuation) ปัจจุบัน SET ซื้อขายที่ Leading PER ถึง 16.3 เท่า แม้ว่าจะปรับตัวดลงจาก 16.6 เท่าในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ยังคงมี Premium ถึง 23.4% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย Asia Pac ex Japan ที่ 13.3 เท่า และมี Premium เพียง 22.7% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 13.3 เท่า ขณะที่ในส่วนของ Foreign Fund Flow การที่ล่าสุด Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” ต่ำกว่า Zero-Line สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงอยู่ฝั่งขายอย่างต่อเนื่องในระยะ 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ยังคงไม่กลับไปปิดเหนือ 1,800 (+/-5) จุดอีกครั้ง เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 120 นาที (120 Mins)

Source: Wealth Hunters Club

48