Dec 26, 20172 min

"เศรษฐา ทวีสิน"...อสังหาบุคคลแห่งปี 2560

ปี 2560 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตลาดยังอยู่ในมือผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเหมือน 2-3 ปีที่ผ่าน เพราะยังมีเงินทุนหนา มีฐานลูกค้าเก่าที่มีฐานะทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะติดตามซื้อโครงการใหม่ๆในปริมาณไม่น้อย จึงสามารถเปิดขายโครงการใหม่ทั้งคอนโดมิเนียม และบ้านแนวราบในหลายทำเล จนสามารถรักษาการเติบโตของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับบริษัทใหญ่ในตลาด จะเห็นได้ชัดว่าปี 2560 แสนสิริเปิดโครงการใหม่หลากหลายรูปแบบ ออกแคมเปญใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างน่าสนใจ จนเป็นที่จับตาของวงการ มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าช่วยด้านการขายโครงการ ซึ่งประสบความสำเร็จได้ไม่น้อย นอกจากนี้ คอนโดมิเนียมบางโครงการมีการนำหุ่นยนต์ชื่อ "แสนดี" มาให้บริการผู้อยู่อาศัยอีกด้วย จึงนับได้ว่า แสนสิริได้ช่วยสร้างสีสันให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์คึกคักขึ้นมาได้ระดับหนึ่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ตลาดอสังหาไม่คึกคักอย่างที่ผู้ประกอบการวาดหวังไว้

ปี 2560 แสนสิริเดินกลยุทธ์ทุกรูปแบบทั้งรุกและลุยทุกระดับในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เปิดโครงการทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมทั้งเปิดตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในประเทศ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานในครึ่งหลังของปี 2560 นั้น แสนสิริยังคงเดินหน้าในการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ "Sansiri Transformation" หรือการรุกปรับองค์กรอย่างเต็มรูปแบบใน 4 ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเพื่อเป็นการตอกย้ำผู้นำการเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำด้านเทคโนโลยีได้ลงทุนกว่า 2-3 ล้านบาท ในการพัฒนาหุ่นยนต์ ”แสนดี” เพื่อมาให้บริการลูกค้า ปี 2560 บริษัทมีแผนพัฒนาโครงการใหม่รวมจำนวน 19 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 44,460 ล้านบาท ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 3 โครงการ ส่วนครึ่งปีหลังมีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 16 โครงการ มูลค่า 39,260 ล้านบาท แบ่งเป็น คอนโดมิเนียม 7 โครงการ มูลค่า 22,350 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 8 โครงการ มูลค่า 16,150 ล้านบาท และทาวน์เฮาส์ 1 โครงการ มูลค่า 760 ล้านบาท สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายรวมแล้วกว่า 15,000 ล้านบาท เติบโต 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้ามียอดขายรวม 36,000 ล้านบาท เติบโต 20%

สำหรับตลาดต่างชาติซึ่งเป็นตลาดสำคัญก็มียอดขายไปถึงประมาณ 3,700 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของเป้าหมายยอดขายตลาดต่างชาติที่วางไว้ 8,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเติบโตตามเป้าหมาย การทำตลาดต่างประเทศบริษัทต้องอาศัยเอเยนต์ ท้องถิ่นพอสมควร เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจสินค้าของบริษัท ขณะนี้ในเมืองจีนมีอัตราเติบโต 7% ลูกค้าญี่ปุ่นและฮ่องกงมีการรับรู้สินค้าของแสนสิริมากขึ้น และเร็วๆนี้ แสนสิริจะเปิดสาขาในจีนอีก 3 สาขาคือ สาขาเซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น และกวางโจว นอกจากนี้ในปัจจุบัน แสนสิริยังมี Presale backlog หรือยอดขายรอรับรู้รายได้รวมทั้งหมดถึง 37,500 ล้านบาท ซึ่งสามารถรองรับการรับรู้รายได้ไปถึงอีก 4 ปีข้างหน้า

เหตุผลที่แสนสิริต้องไปขายอสังหาในต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีขนาดเล็ก การเติบโตของจีดีพีปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 4% ส่วนอสังหาจะเติบโตอย่างมากเพียง 1.5% หรือเติบโตปีละ 5-6% ขณะที่แสนสิริมียอดขาย 30,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 5-6% หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยมีไม่กี่จังหวัดที่ขายได้ นอกจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น และชลบุรี ทำให้แสนสิริต้องไปหาตลาดในต่างประเทศ ที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของแสนสิริ เพื่อการสร้างการเติบโตของยอดขาย ปัจจุบันแสนสิริมีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศ 25% และแบรนด์แสนสิริในปัจจุบันเป็นที่รู้จักในฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

นอกจากนี้ ไฮไลต์สำคัญของการดำเนินธุรกิจของแสนสิริในครึ่งปีหลังคือการเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรตามกลยุทธ์ “Sansiri Transformation” หรือการรุกปรับองค์กรอย่างเต็มรูปแบบใน 4 ด้านเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยมีการจัดทัพทีมผู้บริหารที่มากประสบการณ์ในแต่ละด้าน ที่จะมาช่วยบริหารสู่การเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำด้านเทคโนโลยีที่ครอบคลุมทุกมิติของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการอยู่อาศัยอย่างเต็มรูปแบบ

ในไตรมาสสุดท้ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อการเจรจาซื้อโครงการนิมิต หลังสวน ทั้งโครงการ และห้องชุดโครงการเดอะริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก จำนวน 53 ยูนิต ในโครงการมหานคร กับกลุ่มบริษัทเพซ ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งการเข้าไปซื้อในครั้งนี้ได้รับการแนะนำจากธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในฐานะเจ้าหนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปถึงมูลค่าการซื้อและขายในครั้งนี้จะมีมูลค่าเท่าไหร่ เนื่องจากยังต้องมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ต้องในระยะเวลาประมาณ 60 วัน และยังต้องมีการเจรจาราคาซื้อ-ขายกันอีกครั้งก่อนสรุปการซื้อขายสุดท้าย อีกทั้งปัจจุบัน บริษัท แสนสิริ มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1:1 เท่า และยืนยันว่าจะไม่มีการเพิ่มทุน เพื่อนำเงินมาซื้อห้องชุดในโครงการมหานคร และโครงการนิมิต หลังสวน เพราะยังมีกระแสเงินสดอยู่ในมือกว่า 2,000 ล้านบาท แต่แหล่งเงินที่จะใช้ในการลงทุนครั้งนี้ นอกจากจะใช้กระแสเงินสดบางส่วนแล้ว จะมาจากการใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงิน และการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปี 2561

นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า การเติบโตของธุรกิจอสังหาฯ ในประเทศไทยสอดรับกับการเติบโตของจีดีพี ซึ่งการเติบโตในระดับที่ไม่สูงนัก แต่แสนสิริวางเป้าหมายการเติบโตในระดับสูง และเพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจ แสนสิริได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 2,800 ล้านบาทใน 6 ธุรกิจด้านเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วย 1. บริษัทบริหารจัดการโรงแรม Standard International แบรนด์ธุรกิจบูติคโฮเทล ซึ่งมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 5 แห่งในมหานครนิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส และไมอามี ประเทศสหรัฐ และในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่กำลังจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ แสนสิริจะเป็นผู้ถือหุ้น 35% ในสี่กลุ่มธุรกิจของ Standard International ประกอบด้วย The Standard Hotel Operations and Management, Bunkhouse Group, แอปพลิเคชัน One Night และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรม 2. Hostmaker บริษัทผู้ให้บริการบริหารการเช่าที่พักอาศัย และผู้บริหารการจองที่พักอันดับหนึ่งของ Airbnb เพื่อขยายการลงทุน Hostmaker สู่เอเชียภายใต้ 3. JustCo ผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4. Farmshelf ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ 5. Monocle ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อผสมผสานการเป็นผู้บุกเบิกในการใช้สื่อเสียง ร้านค้ารีเทล และบริการโรงแรมที่พัก และ 6. One Night แอปพลิเคชันสำหรับการจองโรงแรมที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล

33