Jun 28, 20171 min

ก.ล.ต.หลายมาตรฐาน...ดีกรีถูกผิดอยู่ตรงไหน?

นักกฎหมายเป็นงง!!! หลักเกณฑ์การกำกับดูแล/การกำหนดบทลงโทษ ของสำนักงาน ก.ล.ต. ใช้มาตรฐานที่ตรงไหน อย่างไรในการชี้วัดการกระทำผิดของคน เนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการเพื่อลงโทษที่หลากหลายมาตรฐานไม่ทัดเทียม ยกตัวอย่างกรณี การลงโทษผู้กระทำความผิดกรณี อินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง ที่มีการดำเนินการทางแพ่ง เปรียบเทียบปรับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในหลายคดี แต่กลับปรากฏว่าคนหนึ่งยังสามารถบริหารกิจการอยู่ได้ แต่อีกคนหนึ่งห้ามบริหารในกิจการใดๆ ทั้งสิ้น... ชี้ หากกฎหมายใหม่ที่มีความเข้มงวดกรณีอินไซด์หุ้นแต่วิธีการพิจารณาความผิดกลับใช้ดุลพินิจ จะยิ่งไปกันใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายใหม่ให้ ก.ล.ต. ดำเนินคดีทางอาญาได้ด้วย

การดำเนินการกำกับดูแล ตลาดทุน ให้เกิดความเป็นธรรม ทัดเทียม มีความโปร่งใส เป็นเรื่องที่ดีสำหรับนักลงทุนโดยทั่วไป เพื่อให้การลงทุน การซื้อขายหุ้นเป็นไปอย่างมีระบบระเบียบ และไม่เอาเปรียบกัน ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแล อย่าง สำนักงาน ก.ล.ต.จะต้องมีความชัดเจนเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กลับปรากฏว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้สร้างความสับสนให้กับบรรดานักลงทุน ผู้ประกอบการบริษัทจดทะเบียน โบรกเกอร์ ด้วยการดำเนินงานกำกับดูแลที่แตกต่างกัน หลากหลายมาตรฐาน จนสร้างความสับสน และเกิดเป็นความไม่มั่นใจ และไม่เชื่อมั่นในตัวหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับในที่สุด

อย่างเช่นกรณี การกำกับดูแลในเรื่องของการใช้ข้อมูลภายในหาประโยชน์ทำกำไรจากการซื้อขายหุ้น หรือที่เรียกว่า อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ซึ่งต้องมีการใช้ดุลยพินิจในการตีความกรณีการทำความผิดในเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อปกป้องนักลงทุนไม่ให้เสียเปรียบในเรื่องของการลงทุนซื้อขายหุ้นก่อนหลัง การสร้างราคา แต่การใช้ดุลยพินิจ ตลอดจนกำหนดบทลงโทษกลับทำให้เกิดความไม่ชัดเจน และเกิดข้อสงสัย ไม่เข้าใจ ว่าตกลงทำแบบไหนอย่างไรถึงเรียกว่ามีความผิด หรือไม่มีความผิด และเมื่อมีความผิดตามที่ ก.ล.ต.ระบุแล้ว แบบไหนอย่างไรจึงเรียกว่ามีการกำหนดบทลงโทษที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด เพราะกลายเป็นความผิดที่ดูรุนแรง เกิดความเสียหายมากกว่า กลับได้รับโทษน้อยกว่า หรือทำผิดไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็ถูกตัดสินว่าผิดด้วยโทษที่แรงกว่า

ล่าสุด การดำเนินการกล่าวโทษการกระทำผิดของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำผิด 5 ราย กรณีขายหุ้น BLA โดยอาศัยข้อมูลภายใน กับ บิ๊กตระกูลโสภณพนิช อดีตผู้บริหารของบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และผู้ถือหุ้นใหญ่ รวม 5 ราย โดยเรียกให้ชำระค่าปรับทางแพ่งรวม 3,765,000 บาท และส่งคืนผลประโยชน์รวม 1,750,150 บาท และกำหนดห้ามไม่ให้เป็นผู้บริหาร เป็นกรรมการในบริษัทใดๆ อีก ขณะที่ก่อนหน้านี้มีกรณีการพิจารณา ลงโทษผู้ทำผิดในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ในฐานความผิด อินไซเดอร์เทรดดิ้งเหมือนกัน และดูแล้วหากเป็นการอินไซด์ที่น่าจะเสียหายรุนแรงมากกว่า แต่ก็ยังสามารถบริหารกิจการต่อมาได้

“กรณีการดำเนินการเพื่อกำกับดูแลของ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงดูมีหลายมาตรฐาน แม้แต่นักกฎหมายยังสับสน ว่าจะใช้หลักเกณฑ์อย่างไรในการสู้คดี เพื่อพิสูจน์ความถูกผิดของผู้ที่ถูก ก.ล.ต. กล่าวหา กล่าวโทษ”

ทั้งนี้ ยังได้มีการให้คามเห็นจากคนในแวดวงการลงทุน และนักกฎหมายด้วยว่า เมื่อ ก.ล.ต. ใช้อำนาจในการกำกับโดยกล่าวโทษทางแพ่ง ยังมีหลายมาตรฐาน เมื่อมีการกำหนดกฎหมายใหม่ในการกำกับดูแลการลงทุน โดยกำหนดเรื่องของ การใช้ข้อมูลภายใน หรือ อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ให้สำนักงานก.ล.ต. สามารถเอาผิดกล่าวโทษในทางอาญาได้ โดยใช้เพียงการตัดสินจาก ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ก.ล.ต. จะยิ่งไปกันใหญ่

27