Nov 14, 20162 min

ลุ้นซื้อปลายปีเหมือนเดิม

รับมือเฟดขึ้นดอกเบี้ย ! การที่ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 161,000 ตำแหน่งในเดือน ต.ค.2559 ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 191,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.ย.2559 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.9% ขณะเดียวกันกับการที่ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค.2559 ส่งผลให้โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปมีสูงมาก หลังจากที่ล่าสุด Fed Fund Futures สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่สูงถึง 78% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ธ.ค.2559

ทั้งนี้แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกจะยังคงได้รับผลกระทบจากโอกาสที่เฟดจะขยับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมัน เนื่องจากสินทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวจัดเป็นกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนที่ไม่มีกระแสเงินสดในตัวเอง ทำให้เมื่อต้นทุนทางการเงินของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นเป้าหมายของการขายลดความเสี่ยงออกมาก่อน ตรงกันข้ามกับตลาดหุ้นโลกซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีกระแสเงินสดในตัวเองก็คือเงินปันผล

อย่างไรก็ดีการที่จะสวนกระแสให้ตลาดหุ้นโลกได้ประโยชน์คงหวังผลในระยะต่อไปได้ไม่มากเท่าไรนัก เพราะสุดท้ายเมื่อใกล้ถึงเวลาที่เฟดจะขยับขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ ในเดือน ธ.ค.2559 แรงกดดันจากการ Unwinding Dollar Carry Trade จะกลับมากดดันตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะเอเชียที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง

ดังนั้นในเชิงของแนวโน้มนายหมูบินมองยังมองว่าการพักตัวในระยะสั้นๆตามปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2559 ขอ SET ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถปิดเหนือ 1,560 จุด ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์สำหรับการลงทุนระยะกลาง 1-3 เดือน นายหมูบินมองว่าการขยับเข้ามาเพิ่มพอร์ตการลงทุนนั้น ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้ามาในวันที่ SET ปรับตัวบวกแรงๆ โดยควรเป็นไปในลักษณะของการรอจังหวะที่ SET พักตัวลงมาในระหว่างสัปดาห์ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2559 น่าจะเป็นโอกาสในการเข้า “ทยอยสะสม” ที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนต่างชาติต้องลดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง

ตลาดหุ้นเอเชียเสี่ยงที่สุดหากมี Sell-Off รอบใหม่ ! โอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค2559 ที่สูงมาก ส่งผลกระทบในด้านลบต่อความเชื่อมั่น (Sentiment) และการเหวี่ยงตัว (Momentum) ของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยที่ในด้านของความเชื่อมั่นสะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่ามีสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับเพียง 23.6% เท่านั้น ลดลง 1.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับสู่แนวโน้มขาลง หรือ Bearish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 34.3% หรือเพิ่มขึ้นราว 0.2% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ในเชิงของ Momentum

ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีความน่ากังวลมา สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และ HSI VIX Index ของตลาดหุ้นฮ่องกงล่าสุดปรับตัวลงมาต่ำกว่าบริเวณเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันแล้ว สอดคล้องกับการที่ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐ และอาเซียนปรับตัวลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยสำคัญอย่าง EMA 200 วันด้วยเช่นกัน ขณะที่ในด้านของทิศทางเงินทุน ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ Emerging Market กลับมามีเงินทุนไหลออกเป็นครั้งแรกในรอบ 17 สัปดาห์ราว 0.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียมีเงินทุนไหลออกต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้าอีก 0.02 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ประเด็นที่นายหมูบินค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์ของตลาดหุ้นเอเชียก็คือโอกาสที่ตลาดหุ้นเอเชียจะเป็นเป้าหมายอันดับต้นในการขายลดความเสี่ยงของ Global Fund Manager ในกรณีเกิด Sell-Off ขึ้นอีกครั้งในกลุ่มตลาดสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจากถ้าพิจารณาจะพบว่าในปี 2559 เทียบ YTD ตลาดหุ้นตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ยังคงมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิราว 34.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตลาดหุ้นเอเชียมีเงินทุนไหลออกสวนทางออกมาสุทธิราว 18.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงสูงมากในเรื่องของ Fund Flows เนื่องจากในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องทุกวัน 2 สัปดาห์ติดต่อกันแล้ว และในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกสูงที่สุดในกลุ่ม Top10 ของเอเชีย และสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มสื่อสาร, รับเหมาฯ, บันเทิง และประกันฯ เป็นกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิผ่าน NVDR ออกมามากที่สุด ขณะที่กลุ่มพลังงาน, อาหาร, ธนาคาร และวัสดุก่อสร้างเป็นกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิผ่าน NVDR เข้ามามากที่สุด

ดังนั้นบนทิศทางของกระแสเงิน และค่าเงินในภูมิภาคดังกล่าว ทำให้นายหมูบินยังคงมองว่าการไปต่อของ SET เหนือ 1,560 จุดในช่วงที่เหลือของปี 2559 โดยการคาดหวังว่าจะเห็นการเข้าซื้อต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักมีความเป็นไปได้น้อยมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในทางเทคนิคนายหมูบินพบว่าการที่ Indicator สำคัญอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงอยู่ในภาวะ Negitive Divergance กับดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow อย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน และล่าสุดยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า Zero Line อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้ามีสูงมาก ซึ่งจะสอดคล้องกับปัจจัยเชิงฤดูกาล (Seasonality)

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังกลับไปปิดเหนือ 1,560 (+/-5) จุดไม่ได้ แนะนำ “ถือเงินสด” อีกครั้ง หรือ “Wait and See” ไปรอ “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” ในกรอบ 1,410 (+/-5) จุด ในหุ้น PTT, PTTGC, TOP, BDMS, ROBINS, MINT, CPN, AAV, AOT, CK, SCB และ KBANK สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.con/moobin.stockmania และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” เวลา 10.00-12.00 น. และ www.dokbiaonline.com เช่นเดิมครับ

0