Nov 14, 20161 min

ซีพี-อาลีฯ ต้องผ่านด่าน..KBANK บ่ยั่น ‘ฟินเทค’ นอก

“ธีรนันท์ เคแบงก์” มองซีพีร่วมอาลีบาบาลุยฟินเทค ยังไม่น่ากังวลครอบงำตลาดแบงก์ไทย เหตุยังต้องรอดูว่าจะผ่านกฎระเบียบของไทยหรือไม่ก่อน ทั้งถ้าเข้ามาได้แล้วจะให้ประโยชน์อะไรที่คนไทยยอมรับได้บ้าง ห่วงธุรกิจเรียลเซ็คเตอร์ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไปอยู่ในมือของธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่แบงก์ ชี้ฟินเทคที่ไม่ได้เกิดจากแบงก์ส่วนใหญ่รองรับคนที่เข้าไม่ถึงระบบแบงก์ ขณะที่แบงก์ร่วมกับฟินเทคต่างๆ ก็เพื่อรองรับการบุกของต่างชาติอยู่แล้ว

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ที่จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จับมือเป็นพันธมิตรกับอาลีบาบา กรุ๊ป ของประเทศจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าในระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ และยังมีบริษัทในเครือที่มีความเชี่ยวชาญการปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อยผ่านฟินเทค (FinTech) และในระยะต่อไปอาจเข้ามาเป็นคู่แข่งขันกับธนาคารไทยจนทำให้ธนาคารหมดความจำเป็นสำหรับลูกค้า โดยมองว่า

คงไม่ถึงขนาดที่สามารถบอกได้ว่าระบบธนาคารแบบเดิมจะไม่จำเป็น เนื่องจากระบบธนาคารมีความซับซ้อน มีความหลากหลายพอสมควร เพราะฉะนั้นในหลายๆ ด้านคงต้องอาศัยสถาบันการเงินที่ถูกจัดตั้งมาในลักษณะที่เป็นสถาบันการเงินที่ถูกต้องและผ่านการควบคุมดูแลครบถ้วน โดยคิดว่าประเด็นที่เริ่มต้นเกี่ยวกับอาลีบาบา หรือ กลุ่มซีพีไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญอย่างเดียว ประเด็นที่ว่าอาลีบาบามีเทคโนโลยีและมีกำลังเงินที่ค่อนข้างมาก ขณะที่ในกลุ่มซีพีมีตัวที่สำคัญ คือ เครือข่ายของ 7-11 ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีความกว้างขวางมาก จะว่าไปแล้วในระดับของร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อย สำหรับสินค้าทั่วไปถือว่าเป็นเจ้าตลาด หากเจ้าตลาดเทคโนโลยีมาจับมือกับเจ้าตลาดรีเทล ความเชื่อมโยง (ลิงค์) ที่จะทำด้านบริการทางการเงิน ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามองว่าจะทำอะไรให้เกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหน ซึ่งต้องบอกตรงๆว่าถ้าหากดูไม่ดีก็อาจจะเกิดความสามารถในการครอบงำตลาดได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวที่ออกมาในปัจจุบันยังมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยว่าจะทำอะไรกัน ซึ่งต้องรอดูในรายละเอียดกันอีกที หรือตกลงว่าจะได้รับการอนุญาตทำเรื่องอะไรบ้าง และมีขอบเขตที่จำกัดหรือไม่ คิดว่าถ้าหากเอาไปใช้เพื่อบริการกับคนปกติที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเหมาะสม แบบนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม และเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่อาจจะขาดอยู่ในปัจจุบัน แต่ถ้าเข้ามาถึงขนาดที่มาทำธุรกรรมเหมือนหรือทดแทนผู้เล่นเดิมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะว่าประการแรกต้องเช็คดูก่อนว่า ตกลงแล้วจะมาอยู่ภายใต้กฎระเบียบ แนวทางการทำงาน ข้อจำกัดต่างๆ แบบเดียวกับสถาบันการเงินในปัจจุบันทำหรือไม่

ประการที่สอง อาลีบาบาซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติจะเข้ามาจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จ่ายภาษีประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และเอาผลประโยชน์ที่ได้จากการทำธุรกิจเหล่านั้นมีส่วนที่ส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย พูดง่ายๆ ถ้าเข้ามาทำธุรกิจกับคนไทยจะเอาอะไรมาให้กับรัฐบาลไทย สังคมไทย หรือรูปแบบที่สถาบันการเงินปกติของคนไทยในปัจจุบันทำอยู่หรือไม่ และมีความสามารถในการกำหนดกฎเกณฑ์เรื่องต่างๆ ที่จะสอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยถ้าเป็นผู้เล่นต่างชาติ โดยเฉพาะเป็นผู้เล่นต่างชาติที่มาอาศัยเครือข่ายของธุรกิจไทยที่เป็นเครือข่ายที่กว้างขวางมาก เพราะเข้าใจว่า 7-11 ก็มีเป็น 10,000 แห่ง และมีการทำงาน 24 ชั่วโมง ต้องเรียกว่ายังมีเครื่องหมายคำถามอยู่

“อีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้ไปสอดคล้องกับช่วงเวลาที่แจ็ค หม่า เข้ามาพบกับรัฐบาลไทย ซึ่งในนั้นมีรายละเอียดข้อเสนอของอาลีบาบาหลายๆ อัน ซึ่งมองว่าประเทศไทยควรค่อยๆ คิดและค่อยๆ ทำว่าเรื่องไหนเป็นประโยชน์ และดูเรื่องไหนว่าจะทำให้เสียประโยชน์ในระยะยาวได้ เพราะว่าเทคโนโลยีปัจจุบันเป็นโลกของคนที่จะชนะได้เกือบทั้งหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นก็อาจไม่สบายใจเท่าไหร่ที่ธุรกิจทางด้านการค้าขาย โลจิสติกส์ การส่งออก อยู่ในมือของคนที่เป็นธุรกิจอื่น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ” นายธีรนันท์ กล่าวและเผยต่อไปว่า

สำหรับในระบบแบงก์มีการเตรียมรับมืออยู่แล้ว อย่างกสิกรไทยได้ตั้ง กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป มาตั้งแต่ต้นปี ขณะนี้ได้เริ่มทำนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบต่างๆ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประกาศนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้พัฒนาร่วมกับ IBM นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับฟินเทคในประเทศไทย เพราะนโยบายของกสิกรไทย คือ การสร้างระบบนิเวศน์ของการสร้างนวัตกรรมทางการเงินในไทยโดยการสนับสนุนให้มี Innovative Company ที่เป็นบริษัทเล็กทั้งหลายเข้ามาทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ที่มีความรู้ ทรัพย์สิน และฐานลูกค้า อย่างกสิกรไทย ซึ่งจะช่วยกันสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อสังคมไทย และคิดว่าตัวนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันตัวหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้สามารถปกป้องตลาดของไทยจากการเข้ามาครอบงำจากผู้เล่นต่างประเทศที่เป็นรายใหญ่ได้ คือ แบงก์ต้องจับมือร่วมกันระหว่างรายเล็กและรายใหญ่ที่มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมร่วมกันเพื่อไปต่อสู้กับ Globalization ที่จะเข้ามาอย่างแน่นอน

นายธีรนันท์ กล่าวด้วยว่า ในธุรกิจทางการเงินมีความยากในตัวของมันเอง เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งรายละเอียดที่เป็นจำนวนมาก ฟินเทคที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมักจะมีนักการเงินที่เคยมีประสบการณ์ในวงการการเงินมาก่อน แต่ถ้าไม่เคยทำเลยก็คิดว่าอาจจะตกหล่นในรายละเอียดหลายๆ อย่างซึ่งทำให้ผลออกมาอาจไม่ครบถ้วนหรืออาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการทุจริต ความเสี่ยงทางการเงินที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์พอสมควร

ขณะที่การจะเข้ามาปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายย่อยนั้น ที่ผ่านมาการกู้เงินในระดับที่เรียกว่านาโน ไฟแนนซ์ หรือการกู้เงินรายย่อย เช่น ลูกค้าที่ต้องการซื้อทีวี ตู้เย็น หรือการผ่อนรายเดือน จะมีธนาคารให้บริการอยู่แล้ว และในส่วนที่ไม่ใช่ธนาคารก็มีให้บริการเหมือนกัน เช่น อิออน อีซี่บาย ซึ่งระดับนาโน ไฟแนนซ์ มีให้บริการอยู่ก่อนแล้ว หรือธุรกิจอย่างเมืองไทยลิสซิ่งก็ให้บริการนาโน ไฟแนนซ์ ในเรื่องรถจักรยานยนต์มือสอง เพราะฉะนั้น หากถามว่าฟินเทคต่างชาติที่จะเข้ามามีโอกาสที่จะเกิดเพิ่มขึ้นได้หรือไม่ ก็คงมีโอกาส แต่คงจะมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบธนาคารตามปกติได้ เพราะว่าธนาคารอาจมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อสำหรับรองรับกลุ่มลูกค้านี้

ทั้งนี้ เรื่องของฟินเทค บางคนยังไม่มีความเข้าใจ ซึ่งอาจได้ใช้บริการอยู่แล้วแต่ไม่รู้ว่าเป็นฟินเทค เพราะฟินเทคได้ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาบริการทางการเงิน โดยคนที่เอาเข้ามาขายเป็นฟินเทคมักจะไม่ใช่สถาบันทางการเงินเดิม ส่วนจะสะดวกปลอดภัยหรือไม่ ต้องยอมรับว่ากลุ่มฟินเทคอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลที่ไม่เข้มข้นเท่าสถาบันการเงินปกติ เพราะฉะนั้นในเชิงมาตรฐานคงไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถบอกได้ว่าฟินเทคโดยทั่วไปจะมีความเสี่ยงมากกว่าธนาคารหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นมีการลงทุนในระดับที่เหมาะสมในการป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆให้ครบถ้วนหรือไม่ โดยทั่วไปบริษัทฟินเทคมักจะเป็นบริษัทที่อยู่ในการกำกับดูแลที่ไม่เข้มข้นเท่าสถาบันการเงินปกติ

ส่วนความเป็นไปได้ของธนาคารพาณิชย์ที่จะให้บริการฟินเทคนั้นก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ อย่างธนาคารกสิกรไทยก็พยายามจะทำในลักษณะแบบนั้นอยู่ คือ การพยายามจะสร้างนวัตกรรมในการให้บริการทางการเงิน โดยได้สร้างกลุ่มบริษัทที่เรียกว่า กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ขึ้นมา โดยหลักการ คือ ต้องการจะสร้างนวัตกรรมใหม่ หาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ปกติธนาคารอาจจะไม่ได้ให้บริการได้ดีนัก หรือการเข้าบุกตลาดใหม่ๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอล เช่น ตลาด CLMV ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งประเทศใหญ่อย่างจีนที่กสิกรไทยมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจโดยอาศัยดิจิตอลเทคโนโลยี ถ้าถามว่าสถาบันการเงินปกติทำได้หรือไม่ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ แต่คงขึ้นอยู่กับผู้ควบคุมดูแลว่าจะใช้กฎเกณฑ์ในลักษณะที่ใกล้เคียงสอดคล้องที่ใช้กับกลุ่มฟินเทคหรือไม่ มิฉะนั้นก็อาจจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านกฎระเบียบการทำงานอยู่บ้างพอสมควร

“คนที่จะใช้บริการฟินเทคไม่จำเป็นจะต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร โดยทั่วไปฟินเทคที่ประสบความสำเร็จมักจะเริ่มต้นจากลูกค้าที่ไม่ใช่กลุ่มของธนาคารเป็นหลักก่อน เช่น บริการของเอ็มเทลซ่าของแอฟริกา ถือว่าเป็นฟินเทคในรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น Offer โดยบริษัทที่ทำบริการด้านมือถือ อย่างในอินเดียก็มีบริการที่คนอินเดียสามารถเอาสิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าได้ ก็เป็นฟินเทคในอีกรูปแบบหนึ่งที่ปกติแล้ว คือ จะต้องเข้าหาลูกค้ากลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของธนาคารปกติ หรือมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการของธนาคารปกติ” นายธีรนันท์ กล่าว

0