Sep 5, 20161 min

อาฟเตอร์ช็อก! แผ่นดินไหว คนไทยตื่นซื้อประกันฯ

คนไทยตื่นเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน หันสำรวจความคุ้มครองประกันภัยทรัพย์สิน แต่ยังไม่ตระหนักพร้อมจะซื้อประกันภัยเพิ่ม โดยเฉพาะภัยแผ่นดินไหว ทั้งที่เบี้ยประกันภัยแผ่นดินไหวราคาถูกกว่าภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ มาก ด้าน คปภ.ใช้จังหวะปรับปรุงเกณฑ์ประกันอัคคีภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เน้นคุ้มครองภัยต่างๆ เพิ่มขึ้น

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งอิตาลีและประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า จนความสั่นสะเทือนส่งมาถึงไทย ทำให้อาคารสูงหลายแห่งในกทม.และเชียงใหม่รับรู้ได้ถึงความสั่นสะเทือน ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยเกิดความตื่นตัวเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอัตราการเกิดเหตุ หรือความถี่ในการเกิดเหตุในประเทศไทยไม่ได้รุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่งเกิดเหตุเมื่อเร็วๆนี้ จึงยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันราคาเบี้ยยังไม่ถือว่าแพง เฉลี่ยไม่ถึง 0.3% ของวงเงินความคุ้มครอง แต่สมาคมฯ จะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงแนวโน้มปัญหาภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆว่าควรจะมีประกันภัยคุ้มครองให้ครบถ้วน ท่ามกลางปรากฎการณ์เอลนินโญและลานีญา ซึ่งจะมีผลต่อสภาวะดินฟ้าอากาศต่างๆ

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวจากด้านของบริษัทประกันภัยแล้วว่า มีการปรับโซนเสี่ยงในพื้นที่ล่อแหลมหรือได้รับแรงสั่นสะเทือนบ่อยกันบ้างแล้ว

ทั้งนี้ มีกรมธรรม์ประกันภัยหลายประเภทที่ให้ความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) ซึ่งอาคารขนาดใหญ่และอาคารสาธารณภัยต่างๆจะซื้อไว้ รวมทั้งกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่มีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับภัยแผ่นดินไหว และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1)

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันภัยวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน พิจารณาทบทวน ปรับปรุง กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ขึ้นใหม่ โดยเน้นการให้ความคุ้มครองจากภัยต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ให้เบี้ยประกันภัยคงเดิมหรือลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย

ในฐานะนายทะเบียนประกันภัย ได้เห็นชอบในหลักการ แบบและข้อความกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ด้วยการแก้ไขปรับปรุงจากกรมธรรม์ฉบับเดิมที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เกิดจาก 3 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิด และหากความเสียหายจากภัยนี้ ทำให้ผู้เอาประกันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราว ก็จะได้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วัน (หรือไม่เกิน 9,000 บาท) อัตราค่าเบี้ยประกันภัย 500 บาทต่อปี

ส่วนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ฉบับปรับปรุงใหม่ นอกจากให้ความคุ้มครองความเสียหายเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่เกิดจาก 3 ภัย ได้แก่ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดแล้ว ยังคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 4 ภัย ได้แก่ ภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหวและภัยลูกเห็บ หากความเสียหายจากภัยนี้ ทำให้ผู้เอาประกันไม่สามารถอยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราวก็จะได้ค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวไม่เกินวันละ 300 บาท ไม่เกิน 30 วัน (หรือไม่เกิน 9,000 บาท) ด้วยค่าเบี้ยประกันที่ปรับลดลงเหลือเพียง 400 บาท/ปี ราคาเดียว โดยแบ่งความคุ้มครองตามลักษณะสิ่งปลูกสร้าง เช่น สิ่งปลูกสร้างที่เป็นคอนกรีต (บ้านตึก) วงเงินเอาประกันภัย 3 แสนบาท บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้ วงเงินประกัน 1.5 แสนบาท บ้านไม้ วงเงินประกัน 1 แสนบาทและห้องแถวไม้ วงเงินประกัน 5 หมื่นบาท

กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัดสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ฉบับปรับปรุงใหม่ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน จะเห็นได้จากช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล บางพื้นที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจากลมพายุ บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากลูกเห็บ หรือบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กรมธรรม์นี้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง ด้วยเบี้ยประกันที่สามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งเงื่อนไขความคุ้มครองที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน.

0